ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ
วารสารพุทธอาเซียนศึกษา ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ก.ค. - ธ.ค. 2559
พุทธศิลป์คือรูปเปรียบหรือรูปแทนพระพุทธเจ้า เป็นงานศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อสนองตอบและรับใช้งานทางด้านพระพุทธศาสนาที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเป็นความงาม เพื่อความพอใจ ที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาธรรมทางวัตถุถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา เนื่องในพระพุทธศาสนาเป็นการส่งเสริม เผยแพร่ เป็นสิ่งช่วยโน้มน้าวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ให้เกิดความศรัทธา ประพฤติปฏิบัติตน ในแนวทางที่ดีงามตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมายาวนานดังนั้นในประเทศไทยจึงมีพุทธศิลป์เป็นจำนวนมาก พุทธศิลป์ที่ปรากฏในประเทศไทยเริ่มมีให้ เห็นเป็นหลักฐานที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือในสมัยสุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยาทำให้เราได้ เห็นร่องรอยความงดงาม ความศรัทธา ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ุของไทยได้ เป็นอย่างดี แต่แม้ว่าพุทธศิลป์จะทำหน้าที่สื่อสารศรัทธา เจตนา และแนวความคิดของผู้สร้าง อย่างดียิ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มจะมีพุทธพาณิชย์เข้ามาเจือปนแล้ว
พุทธศิลป์เป็นงานศิลปะ เป็นศิลปกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อสนองตอบและรับใช้งานทางด้านพระพุทธศาสนา โดยตรงทั้งในด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ที่มนุษย์ สร้างสรรค์ขึ้นเป็นความงาม เพื่อความพอใจที่แฝงไว้ด้วยปรัชญาธรรมทางวัตถุถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา เนื่องในพระพุทธศาสนาเป็นการส่งเสริมเผยแพร่ เป็นสิ่งช่วยโน้มน้าวจิตใจของ พุทธศาสนิกชน ให้เกิดความศรัทธา ประพฤติปฏิบัติตนในแนวทางที่ดีงามตามหลักธรรมของ พระพุทธศาสนา โดยสิ่งที่ผู้สร้างงานศิลปะได้พยายามสื่อหรือสอดแทรกไว้ในงานศิลปะแต่ละ ชนิด โดยไม่เลือกว่าจะเป็นลัทธิมหาญาณ หรือเถรวาท ดังจะเห็นว่างานศิลปะที่ปรากฏอยู่ ในรูปแบบของงานที่ผู้สร้างมักจะสื่อหลักธรรมสอนอยู่ด้วย และสร้างในวัดเพื่อพุทธบูชา เพื่อการปลูกศรัทธา เตือนใจ เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบหนึ่ง
วัด ชุมชน และพุทธศิลป์ เป็นสิ่งที่เอื้อผูกพันดูแลซึ่งกันและกันมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบัน กลับเห็นค่านิยมการสร้างพุทธศิลป์ที่ผิดแปลกออกจากในอดีต อาทิ การสร้าง พระพุทธรูปนวโกฏิ (http://www.tumsrivichai.com) เป็นรูปเคารพแทนมหาเศรษฐี ในสมัยพุทธกาลจำนวน 9 ท่าน ซึ่งท่านเหล่านี้มีความมั่งคั่งในโภคทรัพย์ มาสร้างเป็น พระพุทธรูป 9 หน้า เพื่อสื่อความหมายถึงความก้าวหน้า ชาวพุทธที่ไม่รู้ความนัยจึงกราบไหว้ เศรษฐีเหล่านั้นด้วยคิดว่าเป็นพระพุทธรูปปางหนึ่ง และอีกกรณีหนึ่งคือการบูชารูปปั้นชูชก หากใครได้กราบไหว้ชูชกจะให้ผลสำเร็จทางด้านการค้าขาย โดยเฉพาะในเรื่องการขอ ไม่ว่าใครจะขออะไรก็ได้รับสมความปรารถนาทุกสิ่ง รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้างได้กล่าวว่า เรื่องชูชก ที่เป็นตัวละครปรากฏอยู่ในพระเวสสันดรชาดก อธิบายว่า การบูชาชูชกเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะพระพุทธเจ้าสอนว่าให้บูชาบุคคลที่ควรบูชา สำหรับชูชกเป็นคนที่ไม่ควรบูชา ในคัมภีร์ พระไตรปิฎกระบุไว้ชัดว่าชูชกเป็นบุรุษโทษ ไม่มีความดีสักข้อเลย ไม่ควรที่จะหยิบยกมาเชิดชู บูชา (http://www.kapook.com/view/51464) และแม้แค่การสร้างพระพุทธรูปปางพิสดาร พระพุทธรูปนั่งชันเข่าห้อยขา แขนข้างหนึ่งวางบนหัวเข่าที่ชันที่ชาวบ้านเรียกว่า ปางเอาที่ สบายใจก็แล้วกัน แต่เจ้าอาวาสปฏิเสธว่าไม่ใช่รูปปั้นพระพุทธรูป แต่เป็นรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม แต่ก็ยอมรับรูปปั้นดังกล่าว ทำให้คนสนใจมาเข้าวัดทำบุญมากขึ้น (http://www.manager.co.th) หรือการสร้างพระพุทธรูปปางหน้าตาปากบวม ที่สำนักพระพุทธศาสนายังต้องออกมา ติงว่าไม่เหมาะสม คำถามจึงมีว่า ศิลปะเหล่านี้จัดเป็นพุทธศิลป์แปลกปลอมหรือไม่เป็น ศิลปกรรมเพื่อพระพุทธศาสนา และรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงหรือไม่? หรือเป็นเพียง รูปปั้นที่สร้างขึ้นมาเพื่อการค้า จูงใจเพื่อการท่องเที่ยว ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักธรรม เสื่อมไปกับกาลเวลาหรืออย่างไร?
จุดกำเนิดของงานพุทธศิลป์ เชื่อว่ามีจุดกำเนิดมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล อย่างน้อย ก็การสร้างสถูป ที่น่าจะมีการก่อสร้างมาแล้ว อาทิ
ในมหาปรินิพพานสูตร ได้กล่าวว่า พระอานนทเถระได้ทูลถามพระพุทธเจ้าก่อนเสด็จ ดับขันธปรินิพพานว่า จะให้จัดการพระสรีรางคารของพระองค์อย่างไร พระพุทธองค์ทรงตรัส ว่าให้จัดการดังเช่นพระศพของพระมหาจักรพรรดิ โดยทั่วไป คือให้ประชุมเพลิงและบรรจุ (เถ้าธุลี) พระอังคารไว้ในพระสถูป ที่ตั้ง ณ ทางแพร่ง หรือทางหลักของการสัญจรไปมา (ที.ม.(ไทย) 10/152-162/126-136.)
ส่วนในพาหิยสูตร ได้กล่าวว่า ท่านพาหิยะ ทารุจีริยะกุลบุตร ได้ถูกแม่โคลูกอ่อนขวิด เสียชีวิต พระพุทธเจ้ากลับจากเสด็จบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ได้ตรัสให้ภิกษุทั้งหลายช่วย กันจับสรีระของท่านยกขึ้นวางบนเตียง แล้วนำไปเผา แล้วให้ทำสถูปไว้ (ขุ.อุ.(ไทย) 25/10/183-187)
จุดกำเนิดของพุทธศิลป์ น่าจะสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และมีวิวัฒนาการของงาน พุทธศิลป์ขับเคลื่อนแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว มีทั้งความงดงาม มีสุนทรีย์ สื่อความหมาย ช่วย ถ่ายทอดหลักจริยศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสื่อธรรมะที่สำคัญที่ใช้สอนจริยธรรมให้กับผู้คนได้ดี พุทธศิลปะมีส่วนสำคัญในการช่วยสืบสานพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น มาได้จนถึงในปัจจุบัน
รศ.สงวน รอดบุญ (2529: 190) ได้ให้ทัศนคติเกี่ยวกับพุทธศิลป์ไว้ว่า...พุทธศิลป์ (Buddhist Art) หมายถึงศิลปกรรม ซึ่งสร้างขึ้นรับใช้พระพุทธศาสนาโดยตรง ทั้งในจิตรกรรมประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ทั้งใน ลัทธิหินยาน (เถรวาท) และลัทธิมหายาน (อาจาริย วาท)
พุทธ ความหมายคือ ท่านผู้ตรัสรู้แล้ว ผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบาน ท่านผู้รู้อริยสัจสี่ อย่างถ่องแท้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2553: 268.) ศิลปะ ความหมายคือ ฝีมือ ความฉลาดในฝีมือ การแสดงออกมาให้ปรากฏอย่างงดงามน่าชม วิชาที่ใช้ฝีมือวิชาชีต่างๆ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต), 2553: 390.) ศิลปะ หรือ ศิลป์ เป็นการกระทำหรือ ขั้นตอนของการสร้างชิ้นงานศิลปะ โดยมนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์สุนทรียภาพ จินตนาการ หรือ การสร้างจากอารมณ์ในภาวะต่างๆ ของมนุษย์ จนเป็นผลงานแห่งความคิดและการรังสรรค์ ที่แสดงออกมาในรูปลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ก่อให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึก ในความงดงามความชอบ ความพึงพอใจ ความประทับใจ หรือเกิดความสะเทือนใจ มีอารมณ์ ชื่นชม ชอบ รัก ไม่พอใจ เกลียด ชิงชัง เป็นต้น
ในขณะที่ พระยาอนุมานราชธนะ (เสถียร โกเศศ) ได้กล่าวว่า ศิลปะ หมายถึง งาน อันเป็ นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้ องใช้ ความพยายามด้ วยมือและด้ วยความคิด (พระยาอนุมานราชธน (เสถียร โกเศศ), 2515: 21.) อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ (2514: ไม่ปรากฏเลขหน้า) ได้ให้ความหมายของคำว่า ศิลปะ ไว้ว่า ศิลปะคือการสะท้อนออกของจิตใจคนออก มาเป็นรูป (From) และในขณะเดียวกันในมุมกลับ ศิลปะสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตและชีวิตสะท้อนให้เห็นศิลปะ พระไพศาล วิสาโล (2553: visalo.org.) ได้กล่าวถึงศิลปะเป็นเรื่องของความงาม ซึ่งสามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจจนเกิดอาการตะลึงงัน หรือสะกดใจให้เกิดความลุ่มหลง อยาก ชิดใกล้ใคร่ครอบครอง (พุทธศาสนาเรียกว่า ราคะ) แต่ในอีกด้านหนึ่ง ศิลปะสามารถเป็นสื่อ ให้เราเข้าถึงความดีและความจริงได้ กล่าวคือ บันดาลใจให้เกิดศรัทธาในสิ่งดีงาม หรือน้อมใจ ให้เกิดความสงบ เกิดกำลังใจใฝ่ฝันอย่างมั่นคงในอุดมคติ อีกทั้งสามารถเปิดเผยความจริง ของชีวิตให้เราได้ประจักษ์ รู้เท่าทันมายาจนละวางได้ ศิลปะชั้นครูยังสามารถยกจิตสู่สภาวะ เหนือโลกเหนือสามัญ (transcendence) คือสภาวะที่จิตได้สัมผัสกับความจริงขั้นสูงสุดหรือ ปรมัตถ์ เช่น ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและจักรวาล สภาวะที่อัตตาตัวตนได้ เลือนหาย ไม่มีเส้น แบ่งระหว่างฉันกับโลกอีกต่อไป อยู่เหนือสมมติบัญญัติหรือความจริงแบบทวินิยม (dualism) เป็นสภาวะที่จิตเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณ ศิลปะสามารถ เป็นสื่อนำผู้คนเข้าถึงมิติที่ลึกซึ้งสูงสุด ในทางศาสนธรรมได้
จุดเชื่อมบรรจบระหว่างศิลปะกับพุทธศาสนา คือการสื่อสารด้วยศรัทธา กล่าวคือ เมื่อคนๆ หนึ่ง ซึ่งมีความทุกข์ กลัดกลุ้มใจ ท้อแท้ ในชีวิต ได้ มานั่งอยู่ ตรงพระพักตร์ พระพุทธรูปในโบสถ์ ได้เห็นพระพักตร์อันสงบนิ่ง สายพระเนตรแห่งความเมตตา ที่ทอดมองลงมา พลันความรุ่มร้อนใจก็มลายหายสิ้น เหมือนมีหยาดน้ำทิพย์มาชโลมใจ ก่อความเย็น ชุ่มชื่นสบายใจ ทุกข์สงบ ระงับด้วยอานุภาพแห่งความศรัทธาต่อพุทธศิลป์นั่นเอง
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายไว้ว่า พุทธศิลป์ คือเจดีย์ที่ เคารพนับถือ บุคคล สถานที่ หรือวัตถุ ที่สมควรเคารพบูชาเจดีย์ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้ามี 4 ประเภทคือ 1) ธาตุเจดีย์ คือสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 2) บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย 3) ธรรมเจดีย์ คือสถานที่บรรจุพระธรรมหรือบรรจุ พระพุทธพจน์ 4) อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป ทางด้านศิลปกรรมไทย หมายถึงสิ่งที่ก่อเป็นยอดแหลม เป็นสถานที่บรรจุสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ อัฐิของเจ้าเมือง พระมหากษัตริย์ และอัฐิของบรรพบุรุษ เป็นต้น (พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2540: 5)
ดังนั้น พุทธศิลป์ จึงมีความหมายถึงงานศิลปะที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการอุทิศ และรับใช้ ด้านพระพุทธศาสนาโดยตรง ก่อให้เกิดความศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนาโดยอาศัยองค์รวมของการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป
พุทธศิลป์ในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมากเนื่องจากได้รับเอาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ ความเชื่อถือและการเคารพนับถือพระพุทธศาสนามาจากอินเดียเกือบทั้งหมด พุทธศิลป์ได้มีการสร้างติดต่อกันมาหลายร้อยปีแล้ว ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาได้เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาเป็นเวลาช้านาน
พบว่ามีเมืองโบราณและหลักฐานทางศิลปกรรมที่มีการแพร่กระจายมากในทุกภูมิภาคของดินแดนไทย มีปรากฏอยู่ในดินแดนหลายพื้นที่ เริ่มต้นจากบริเวณภาคกลางตอนล่างที่ราบ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดินแดนที่ติดกับริมทะเลตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม เมืองอู่ทอง แพร่ขึ้นไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ จังหวัดสิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี นครนายก และขึ้นไปภาคเหนือตอนบนคือเมืองหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ในฝั่งตะวันตก ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี นครนายก ไปยังฝั่งตะวันออกทั้งหมด ตั้งแต่ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี และได้ขึ้นไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตอีสานใต้และอีสานเหนือ ทั้งหมด (ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2556: 78) และมีปรากฏที่ไชยา นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี เป็นต้น
จิตรกรรมไทยภาพเขียน ที่มีลักษณะเป็นแบบอย่างของไทยที่แตกต่างจากศิลปะของ ชนชาติอื่นอย่างชัดเจน เป็นลวดลายที่มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ซึ่งนำรูปร่างจากธรรมชาติมาประกอบ เช่น ลายกนก ลายกระจัง ลายประจำยาม ลายเครือเถา เป็นต้นหรือเป็นรูปที่มาจาก ความเชื่อและคตินิยม เช่น รูปคน รูปเทวดา รูปสัตว์ รูปยักษ์ เป็นต้น จิตกรรมไทยเป็นศิลปะ ที่มีความประณีตสวยงาม แสดงความรู้สึกชีวิติจิตใจและความเป็นไทยที่มีความอ่อนโยนละมุน ละไม สร้างสรรค์สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต จนได้ลักษณะประจำชาติ มีลักษณะประจำชาติที่มี ลักษณะและรูปแบบเป็นพิเศษ นิยมเขียนบนฝาผนังภายในอาคารที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และอาคารที่เกี่ยวกับบุคคลชั้นสูง เช่น โบสถ์ วิหาร พระที่นั่ง วัง บนผืนผ้า บนกระดาษ และบน สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ โดยเขียนด้วยสีฝุ่น ตามกรรมวิธีของช่างเขียนไทยแต่โบราณ เนื้อหาที่ เขียนมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตพุทธ พุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดีและชีวิตไทย พงศาวดารต่างๆ ส่วนใหญ่นิยมเขียนประดับผนังพระอุโบสถวิหารอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบพิธีทางศาสนา ประติมากรรมไทยเป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกโดยกรรมวิธีการปั้นการแกะสลัก
การหล่อ หรือการประกอบเข้าเป็นรูปทรง 3 มิติ ซึ่งมีแบบอย่างเป็นของไทยโดย เฉพาะวัสดุที่ใช้ในการสร้างมักจะเป็นดิน ปูน หิน อิฐโลหะ ไม้ งาช้าง เขาสัตว์ กระดูก ฯลฯ ผลงาน ประติมากรรมไทย มีทั้งแบบนูนต่ำ นูนสูง และลอยตัว งานประติมากรรมนูนต่ำและนูน สูงมักทำเป็นลวดลายประกอบกับสถาปัตยกรรม เช่น ลวดลายปูนปั้น ลวดลายแกะสลักประดับตามอาคารบ้านเรือนโบสถ์วิหาร พระราชวัง ฯลฯ ลอยตัว มักทำเป็นพระพุทธรูป เทวรูป รูป เคารพต่างๆ ตุ๊กตา ภาชนะดินเผา ตลอดจนถึงเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามสกุลช่างของแต่ละท้องถิ่น หรือแตกต่างกันไป ตามคตินิยมในแต่ละยุคสมัย โดยทั่วไป แล้วเรามักศึกษาลักษณะของสกุล ช่างที่เป็นรูปแบบของศิลปะสมัยต่างๆ ในประเทศไทยจากลักษณะของพระพุทธรูป เนื่องจาก เป็นงานที่มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จัดสร้าง อย่างปราณีตบรรจง ผู้สร้างมักเป็นช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญที่สุดในท้องถิ่นหรือยุคสมัยนั้นเป็นประติมากรรมที่มีวิธีการจัดสร้างที่เปี่ยมด้วยศรัทธา
สถาปัตยกรรมไทย เป็นศิลปะการก่อสร้างของไทย อันได้แก่อาคาร บ้าน เรือน โบสถ์ วิหาร วัง สถูป และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่มีมูลเหตุที่มาของการก่อสร้าง การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในแต่ละท้องถิ่น จะมีลักษณะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ และคตินิยม ของแต่ละท้องถิ่น แต่สิ่งก่อสร้างทางศาสนาพุทธมักจะมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะมีความเชื่อความศรัทธาและแบบแผนพิธีกรรมที่เหมือนๆ กัน สถาปัตยกรรมที่มักนิยมนำมาเป็น ข้อศึกษามักเป็นสถูป เจดีย์ โบสถ์ วิหารหรือพระราชวัง เนื่องจากเป็นสิ่งก่อสร้างที่คงทน มีการพัฒนารูปแบบมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และได้รับการสรรค์สร้างจากช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญ พร้อม ทั้งมีความเป็นมาที่สำคัญควรแก่การศึกษา
พุทธศิลป์ส่วนมากสร้างขึ้นในปริมณฑลของวัด เพราะศิลป์หรือช่างจะแสดงเจตจำนงในการเนรมิตศิลปกรรมด้วยพลังศรัทธา และเป็นพุทธบูชา เป็นต้น (สงวน รอดบุญ, 2535: 481) เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ศิลปะกลายเป็นเครื่องมือชี้ชวนให้เข้าวัด พุทธศิลป์ ในวัด พุทธศิลป์ เป็นสถาปัตยกรรม อาทิ เช่น พระวิหาร พระเจดีย์ พระปรางค์ หอไตร ศาลา ใบเสมา และประติมากรรม อาทิ พระพุทธรูป และภาพจิตรกรรมซึ่งเป็นพุทธศิลป์ฝาผนังที่ วาดไว้ในพระอุโบสถในพระวิหาร พุทธศิลป์จึงเปรียบเสมือนเป็นสื่อนำในการรับรู้ ความเข้าใจในหลักธรรม ให้มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล พระพุทธรูปจึงถูกสร้างสรรค์ออกมาเมื่อมองพิศแล้ว ให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอม มีปีติยินดีเป็นสุข
ใบเสมาอยู่คู่กับวัด วัดมีใบเสมาเพราะใบเสมาเป็นหลักเขตหรือสิทธิ์ เป็นเขตกำหนดเป็นที่ร่วมกระทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ (โชติ กัลยาณมิตร, พจนานุกรม. 2548: 500) เช่น ใบเสมาที่ใช้ปักล้อมพระอุโบสถ กำหนดเป็นเขตที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรม ใบเสมาที่ปรากฏมักจะทำจากหิน หรือที่เรียกว่าหินศิลาหรือหินทราย ใบเสมาหินเป็นโบราณวัตถุสำคัญอย่างหนึ่ง
งานพุทธศิลปะ มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันงานศิลปะ ในแต่ละยุคสมัย จึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามความนิยม และการถ่ายทอดเล่าขาน เรื่องราวต่างๆ พุทธประวัติที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ช่างศิลป์จึงได้นำออกมาถ่ายทอดผ่านงาน ศิลปะ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งจิตรกรรมฝาผนัง งานประติมากรรม งานปั้นดินเผา แกะสลักหิน ประเภทต่างๆ และแกะสลักไม้ต่างๆ ส่วนมากจะเป็นการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องราว ที่สามารถศึกษาได้จากภาพตามฝาผนังของโบสถ์ วิหาร วัด กำแพง ปราสาท พระราชวัง อาทิ ซึ่งไม่ใช่เรื่องราวของพุทธประวัติอย่างเดียว ศิลปะบางรูปแสดงถึงวิถีดำเนินชีวิต เล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตของชุมชนสมัยนั้น ของผู้คนในสังคมไทยด้วย ทำให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ เรื่องราวในอดีต หรือแม้แต่เหตุการณ์บ้านเมืองในอดีต อย่างเช่น จิตรกรรมฝาผนังของวัดบวรนิเวศวรวิหาร
ผลงานด้านศิลปะไม่ว่าเป็นพระพุทธรูป จิตรกรรมฝาผนัง สถาปัตยกรรม ที่พบอยู่หลายแห่งในประเทศไทย พม่า อินเดีย ลาว อินโดนีเซีย เขมร ทิเบต ล้วนเป็นเครื่องแสดงออกถึง ความศรัทธาในศาสนา แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ความเชื่อความศรัทธา ผู้สร้างงานศิลปะได้พยายามสื่อหรือสอดแทรกไว้ในงานศิลปะแต่ละชนิดเรียกได้ว่าเป็นปรัชญาศิลปะในงานพุทธศิลป์ คืองานศิลปะที่มีธรรมะในศาสนาพุทธอยู่ในงานศิลป์นั้นซึ่งมีอยู่หลาย รูปแบบ ทั้งในรูปแบบของงานศิลปวัตถุหรือพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งจะมีหลักธรรมะสอนอยู่ โดยแบ่งศึกษาออกเป็นประเภทต่างๆ ทั้งพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ อาคารสถานที่ และวัตถุสิ่งของ จึงสามารถกล่าวได้ว่างานศิลปกรรมเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของชาติอย่างหนึ่ง ดังนั้น การนำงานพุทธศิลป์ มาเป็ นสื่อในการสอนปรัชญาธรรมะต่ างๆ เป็ นการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาในรูปแบบหนึ่ง อาทิ การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วิหาร อธิบายเรื่องพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าสถูป เจดีย์ พระพุทธรูปปางต่างๆ ช่วยให้ผู้คนมีศรัทธาใน พระพุทธเจ้า และพุทธศิลป์ยังสื่อเพื่อความรู้ในชาดกหรือธรรมบท
ศิลปกรรมในพระพุทธศาสนาทั้งหมดจะสร้างขึ้นในวัด ทั้งนี้เพราะวัดเป็นจุดศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชน วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นแหล่งถ่ายทอดศิลปวิทยาการและธรรมะ ศิลปะกลายเป็นเครื่องมือชี้ชวนให้เข้าวัด เป็นสื่อนำในการรับรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมให้มี จิตใจเป็นบุญ เป็นกุศล เสียสละ บริจาคทาน
งานพุทธศิลป์ก่อให้เกิดผลอันเป็นคุณค่าทางจิตใจ ให้เกิดความเกษมเบิกบาน มีความสุขสงบ โปร่งเบา ร่มเย็นในจิตใจ งานพุทธศิลปะหลายชิ้นล้วนแล้วถ่ายทอดความจริงเรื่องราว ต่างๆ เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม หลักศีลธรรมความดีงาม เสริมสร้างเพื่อสื่อให้ผู้ดูสัมผัสให้เข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกฎของธรรมชาติ ความไม่เที่ยง การพลัดพราก ที่มนุษย์ ทุกผู้คนต้องประสบ แม้กระนั้น พุทธศิลป์ยังถ่ายทอดความเมตตากรุณา ปลอบประโลมให้ ผู้ทุกข์คลายเบาบางลง แม้กาลเวลาก็ไม่ทำให้พุทธศิลป์คลายมนต์ขลังลงได้อาทิ พุทธศิลป์ พระพุทธรูปปางลีลาลอยตัว แม้ผ่านกาลเวลามานานแล้ว แต่ความงดงามยังฉายแสงความเมตตากรุณาไม่เปลี่ยนแปลง
พระพุทธรูปปางลีลาลอยตัว ถือได้ว่าเป็นงานปะติมากรรมชั้นเยี่ยมที่ยอมรับกันว่างามอย่างมาก และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าได้แนวความคิด มาจากภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ คงสร้างขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19
หากจะย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์กันของศิลปะกับศาสนา จะเห็นว่า เพราะคนเราเมื่อ มีความศรัทธาในศาสนาแล้วก็จะทุ่มเทอุทิศตน และต้องการให้สิ่งดีๆ บังเกิดขึ้นกับศาสนาที่ตัวเองนับถือ ฉะนั้น ศาสนสถานแต่ละแห่งนั้นก็เกิดจากพลังศรัทธาของคนในชุมชนรวมกัน
ตัวอย่างเช่น พระเจ้าพิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา ซึ่งได้สร้างวัดถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อบูชาพระศาสดา เพื่อพระพุทธศาสนา และเพื่อส่วนรวมจึงทำให้เกิด ประโยชน์อย่างมหาศาล ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นปึกแผ่นมาถึงปัจจุบัน
ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างมากๆ เป็นเสมือนศูนย์บัญชาการในการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดในสมัยพุทธกาล พุทธบริษัททั่วทั้งชมพูทวีปเมื่อประสงค์จะเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องเดินทางดั้นด้นมาที่สาวัตถีและวัดเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงประทับจำพรรษานานที่สุดถึง 19 พรรษา
ภายหลังที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทำสังคยานาครั้งที่ 3 เสร็จสิ้น พระองค์ได้ส่ง พระธรรมฑูตไปเผยแผ่พระศาสนายังหลายแห่ง หลายประเทศ พุทธศิลปะได้เคลื่อนย้ายไปสู่ ประเทศนั้นๆ ด้วย โดยเมื่อปักหลักพระศาสนาไว้ ณ ที่ใด พุทธศิลป์ก็ดำรงในบริบทสังคมประเทศนั้นด้วย แม้ว่าศิลปะจะมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่เราก็ดูออกว่าเป็นพระพุทธรูป เพราะ มีลักษณะร่วมกันในบางอย่างที่ทำให้ดูออกว่าเป็นพระพุทธรูป ซึ่งมีลักษณะที่สอดคล้องกับลักษณะมหาบุรุษหลายอย่างร่วมกันอยู่ เช่น มีขนระหว่างคิ้วเรียกว่าอุณาโลม มีพระเกตุมาลา มีพระรัศมีแสงเปล่งออกมาจากพระเศียร คล้ายดอกบัวตูมชูสูงขึ้นคล้ายเปลวไฟ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2556: 4) พระพักตร์มีความเมตตาอย่างนี้เป็นต้น
พุทธศิลป์ในช่วงหลังพุทธกาล คือหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินพพานแล้วพุทธศิลป์จะแสดงออกในรูปสัญลักษณ์ ธรรมจักรบ้าง มีกวางหมอบด้านหน้า หมายถึง การแสดงธรรมเทศนา หรือเป็นรูปต้นโพธิ์ มีที่ประทับว่างเปล่าอยู่ที่โคนต้นแสดงการตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้ า หรือรูปพระนางสิริมหามายาทรงยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ แสดงตอนประสูติ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2556: 3)
พระพุทธรูปเป็นพุทธศิลป์ พระพุทธรูปไม่ใช่รูปเหมือนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นรูปสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ พระพุทธรูปแต่ละสกุลช่าง แต่ละสมัย จะมีความแตกต่างกันด้าน รูปแบบ แต่พระพุทธรูปทุกองค์ล้วนแสดงถึงสัญลักษณ์สำคัญที่เรียกว่า “มหาปุริสลักษณะ” คือ ลักษณะของมนุษย์ทั้ง 32 ประการ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2556: 3)
ไม่ว่าจะปรากฏพระพุทธรูปยังประเทศที่ใดก็ตาม ผู้พบเห็นจะรับรู้ได้ทันที่ว่านั้นคือพระพุทธรูป ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาพุทธศิลป์ที่ได้เข้าไปสู่ประเทศต่างๆ ประเทศนั้นๆ ก็มีการ ปรับลักษณะพระพักตร์ความคล้ายของคนในชาตินั้นบ้าง ในแต่ละยุคสมัยได้รับอิทธิพลมาจากทางไหนก็จะมีลักษณะเอกลักษณ์ ที่มีความแตกต่ างกัน ตามแต่ ที่มาและที่ไป แม้ จะมี ความแตกต่างกันด้วยรูปลักษณะของคนในชาตินั้นๆ แต่สาระสำคัญคือให้ทราบว่านั่นคือองค์แทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบพระองค์ท่านแล้วก็ให้ระลึกนึกถึงพระคุณของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ า คือ พระปั ญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พุทธศิลป์ถือเป็นสื่อน้อมนำศรัทธา (จารุวรรณ พึ่งเทียร, 2553: 14) เป็นแหล่งความรู้
เป็นศูนย์กลางจุดรวมของจิตใจ ที่มีคุณค่าความสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
1. ในฐานะเป็นที่พึ่งทางจิตใจ โดยเฉพาะพุทธศิลป์ที่เป็นพระพุทธรูปเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวพุทธ สร้างขวัญกำลังให้แก่ผู้ต้องการกำลังใจ
2. พระสถูปเจดีย์ พระแท่นใต้ต้นศรีมหาโพธิ รอยพระพุทธบาท แผ่นจารึกหัวข้อพุทธธรรม เป็นต้น ต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีคุณค่าในฐานะสิ่งอนุสรณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
3. เป็นเครื่องหมายของพุทธศาสนา และเป็นสิ่งประกอบในศาสนาพิธี
4. เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม และเป็นทางแห่งการทำบุญกุศลของชาวพุทธ ชาวพุทธจะอาศัยพุทธศิลป์เป็นการกราบไหว้บูชา เพื่อน้อมนำไปสู่การศึกษาและปฏิบัติธรรม
การสร้างพระ การสร้างสถูปเจดีย์ การบูรณะซ่อมแซม ซึ่งถือเป็นกุศลหลักทางพระพุทธศาสนา
5. มีคุณค่าทางศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี สถาปัตยกรรม โบราณคดี ประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศึกษาเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ทัศนคติค่านิยม สังคมวิทยา และศีลธรรมจรรยา
ความงดงาม ความสุนทรี และทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นต้น
พุทธศิลป์เป็นศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในพระพุทธศาสนา ได้มีการสร้างติดต่อกันมาหลาย ร้อยปีแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาช้านาน ด้วยเหตุนั้น พุทธศิลป์ในประเทศไทยจึงมีจำนวนมาก และทั้งหมดจะสร้างขึ้นในวัด ทั้งนี้ เพราะวัดเป็ นจุดศูนย์ กลางของพระพุทธศาสนานิกชน มีประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในวัด โบราณสถานในวัดจึงเป็นแหล่งสำคัญ เพื่อการศึกษาค้นคว้าวิวัฒนาการทางด้านศิลปะ ของพุทธศิลป์แต่ละสมัย เป็นแหล่งศึกษาด้านประวัติศาสตร์ วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ศิลปะจึงมีคุณค่าต่อศาสนา ศาสนาเจริญที่ใดศิลปะก็เจริญที่นั่น ศาสนามีลายลักษณ์อักษรว่า เป็นศาสนา แต่ศิลปะเป็นสิ่งโน้มนำให้คนเข้าหาหลักธรรมของศาสนา พุทธศิลป์จึงเป็น งานที่สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อเป็นการอุทิศและรับใช้พระศาสนาโดยตรง เป็นการสืบต่ออายุ ของพระพุทธศาสนาให้ ยั่งยืนในกาลต่ อไป ศิลปะที่เป็ นพุทธพาณิชย์ หรือเพื่อจูงใจแก่ นักท่ องเที่ยวจึงไม่ จัดอยู่ ในพุทธศิลป์ เนื่องจากไม่ ได้ สร้างเพื่อความบริสุทธิ์ด้านจิตใจ หากเป็นการสร้างขึ้นเพื่อการค้าขาย และสร้างแรงจูงใจเพื่อการท่องเที่ยวนั้นเอง
ที่มา : http://www.asc.mcu.ac.th/wp-content/uploads/2016/02/001.-2-.paper_2-59-74.pdf