ปางจงกลมแก้ว

   

ลักษณะพระพุทธรูป
        พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืนยกพระบาทขวาก้าวเหยียบพื้น  ยกส้นพระบาทซ้ายขึ้น  ปลายพระบาทจรดพื้น  แสดงอาการก้าวเดินจงกลมพระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่หน้าพระเพลา  ทอดพระเนตรลงต่ำอยู่ในพระอาการสังวรอันเป็นการเดินอย่างมีสติกำกับทุกก้าวพระบาท

ประวัติความเป็นมา
        ครั้นพระผู้มีพระภาคผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จจากการทอดพระเนตรแล้ว  จึงเสด็จจาก อนิมิสสเจดีย์กลับมาประทับอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างอนิมิสสเจดีย์กับต้นพระศรีมหาโพธิ  แล้วเสด็จจงกลม อยู่  ณ  ที่นั้นเป็นเวลา  ๗  วัน  ซึ่งนับเป็นสัปดาห์ที่  ๓  ที่เสด็จจงกรมอยู่  คำว่า  “จงกรม”  ได้แก่กิริยาเดินด้วยมีสติกำหนดทุกขณะย่างก้าว  และมีที่หมายว่า  เมื่อเดินถึงที่ไหนจะกลับ  และกลับมาถึงไหนแล้วจะเดินต่อไป  อาการเดินแช่มช้า  ด้วยมีสตินึกรู้กำหนดนึกรู้สึกอยู่เสมอที่ทุกขณะยก  ย่างเหยียบเรียกว่า  จงกลม  ที่อันพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรมนั้น  เป็นนิมิตมหามงคลเรียกว่า  “จงกรมเจดีย์”  
    พระพุทธจริยาที่เสด็จจงกรม  ณ  สถาน  “จงกรมเจดีย์”  นั้นเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้เรียกว่า  “ปางจงกรมแก้ว”  และต่อมาสถานที่แห่งนั้นก็ได้นามว่า  “รัตนจงกรมแก้ว”  หรือ  “เจดีย์จงกรมแก้ว”