ปางเรือนแก้ว

   

ลักษณะของพระพุทธรูป
        พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิอยู่ในเรือนแก้ว  หงายพระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกัน  พระหัตถ์ขวาวางทับพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา  มีเรือนแก้วรอบพระกายงามวิจิตร  ดูพระพุทธรูปพระพุทธชินราชพิษณุโลกเป็นตัวอย่างบางแห่งสร้างเป็นแบบขัดสมาธิเพชรประทับนั่งอยู่ในเรือนแก้ว


ประวัติความเป็นมา
        ครั้นพระพุทธองค์เสด็จจากการเสด็จจงกลม  ๗  วันแล้วในสัปดาห์ที่  ๔  พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จจากจงกรมแก้ว  ไปทางทิศพายัพแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ  ประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้ว  ซึ่งเทวดานิรมิตขึ้นถวาย  ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก  ณ  เรือนแก้วนั้นสิ้น  ๗  วัน  และสถานที่ประดิษฐานเรือนแก้วเป็นนิรมิตมหามงคลเรียกว่า  “รัตนฆรเจดีย์”  ต่อจากนั้น  พระองค์ก็เสด็จไปยังไม้อชปาลนิโครธ  ต้นไทรและต้นไม้จิก  ต้นไม้เกดโดยลำดับ  ๗  แห่ง ๆละ  ๗วัน
    พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งพิจารณาพระอภิธรรมยังรัตนฆรเจดีย์นั้น  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้เรียกว่า  “ ปางเรือนแก้ว”
    ครั้นเสด็จจากการพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกในเรือนแก้วเป็นเวลา  ๗  วันแล้ว  พระองค์ก็เสด็จจากรัตนฆรเจดีย์  ไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่  ณ  ร่มไม้อชปาลนิโครธ  ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศบูรพาแห่งต้นพระศรีมหาโพธินั้น  ครั้งนั้นมีพราหมณ์ผู้มีนิสัยชอบขู่ด้วยคำหยาบผู้หนึ่ง  เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามว่า  ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ  คนที่เป็นพราหมณ์นั้นสำเร็จด้วยธรรมมีประมาณเท่าใด
    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า  พราหมณ์ผู้ใดลอยบาปเสียได้  ไม่มี่กิเลสเครื่องขู่คนอื่น  ปราศจากกิเลสย้อมจิตไม่ติดแน่นดุจน้ำฝาด  มีตนสำรวมดีแล้ว  รู้จบพระเวท  อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ไม่มีกิเลสเครื่องฟูใจในโลกแม้แต่น้อยพราหมณ์ผู้นั้นชอบที่จะพึงกล่าวว่าตนเป็นพราหมณ์ได้โดยธรรม