ปางรำพึง

   

ลักษณะพุทธรูป
    พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ  พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายเป็นกิริยารำพึง  บางแห่งสร้างเป็นแบบนั่งก็มี
    พระพุทธรูปปางนี้  นิยมสร้างขึ้นเป็นที่สักการบูชาประจำวันของคนเกิดวันศุกร์


ประวัติความเป็นมา
    เมื่อตปุสสะ และภัลลิกะ ๒ พานิช กราบทูลลาไปแล้วพระพุทธองค์เสด็จกลับจากร่มไม้ราชายตนะ  ไปประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชลปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง  และทรงรำพึงถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนั้นว่า  เป็นธรรมประณีตละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ  ยากที่บุคคลจะรู้ได้ทำให้ท้อแท้พระทัย  ถึงกับทรงดำริจะไม่แสดงธรรมแก่มหาชน
    ครั้งนั้น  ท้าวสหัมบดีพรหมทราบวาระจิตของพระพุทธองค์  จึงร้องประกาศชวนเทพดาทั้งหลาย  พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ยังที่ประทับ  ณ  ควงไม้อชปาลนิโครธ  ถวายอภิวาทแล้วกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์  ขอให้ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชน  เพื่อบุคคลผู้มีธุลีในนัยน์ตาน้อย  ทั้งมีอุปนิสัยในอันจะเป็นพุทธสาวก  จะได้ตรัสรู้ธรรมบ้าง
พระพุทธองค์  ทรงรำพึงถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่า  ได้ตรัสรู้แล้วย่อมทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนทั้งหลายประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาลเพื่อประโยชน์สุขแก่ปัจฉิมชน  ผู้เกิดมาภายหลังแล้วจึงเสด็จปรินิพพาน  จึงได้น้อมพระทัยไปในอันแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ในโลกแล้ว  ทรงพิจารณาอีกว่า  จะมีผู้รู้ถึงธรรมนั้นบ้างหรือไม่  ก็ทรงทราบถึงอุปนิสัยของบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ย่อมมีต่างๆกัน  คือทั้งประณีต  ปานกลาง  และหยาบ  ที่มีนิสัยดีมีกิเลสน้อยเบาบาง  มีบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแล้ว  ซึ่งพอจะตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้ก็มีอยู่  ผู้มีอินทรีย์ ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิปัญญา  กล้าก็มี  ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี  เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่ายก็มี  เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยยากก็มีเป็นผู้สามารถจะรู้ได้ก็มี  เป็นผู้ไม่สามารถจะรู้ได้ก็มี  เปรียบเหมือนดอกบัวที่เกิดในน้ำ  เจริญในน้ำ  น้ำเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้บางเหล่ายังจมอยู่ในน้ำ  บางเหล่าอยู่เสมอน้ำ  บางเหล่าขึ้นพ้นน้ำแล้ว  ในดอกบัว  ๓  เหล่านั้น  ดอกบัวที่ขึ้นพ้นน้ำแล้วนั้นคอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์อยู่จักบาน  ณ  เช้าวันนี้  ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ  จักบาน  ณ  วันพรุ่งนี้ดอกบัวที่ยังไม่ขึ้นจากน้ำยังอยู่ภายในน้ำ  จักบานในวันต่อๆไป ดอกบัวที่จะบานมีต่างชนิดฉันใด  เวไนยสัตว์ที่จะตรัสรู้ธรรมก็มีต่างกันฉันนั้นเหมือนกัน  คือ  ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง  มีอินทรีย์แก่กล้าเป็นผู้ที่จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย  และอาจรู้ธรรมพิเศษนั้นได้โดยฉับพลัน  ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นเป็นประมาณปานกลาง  เมื่อได้รับอบรมในปฏิปทาอันเป็นบุพพภาค  จนมีอุปนิสัยแก่กล้าก็สามารถบรรลุธรรมพิเศษนั้นดุจเดียวกัน  ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวแต่ยังอ่อน  ก็ยังควรได้รับการแนะนำในธรรมเบื้องต่ำต่อไปก่อนเพื่อบำรุงอุปนิสัย  เมื่อเป็นเช่นนี้  พระธรรมเทศนาของพระองค์คงไม่ไร้ผล  จักยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่คนทุกหมู่เหล่า  เว้นแต่จำพวกปทปรมะซึ่งมิใช่เวไนย  คือ  ไม่รับการแนะนำซึ่งเปรียบด้วยดอกบัวอ่อน  อันจะเป็นภักษาหารของปลาและเต่าต่อไป
ครั้นพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ  หยั่งทราบเวไนยสัตว์ผู้จะรับประโยชน์  จากพระธรรมเทศนาแล้วก็ทรงอธิฐานพระหฤทัย  ในอันจะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์และตั้งพุทะปณิธานจะใคร่ดำรงพระชนม์อยู่  จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายประดิษฐานให้มั่นคงสำเร็จประโยชน์แก่ชนนิกรทุกหมู่เหล่าต่อไป
     พระพุทธจริยาที่ทรงรำพึงถึงธรรมที่จะแสดงโปรดชนนิกรผู้เป็นเวไนยบุคคลนั้นแลเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางรำพึง”