ลักษณะพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิพระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร ซึ่งวางอยู่บนพระเพลา พระหัตถ์ขวาหย่อนลงในบาตร เป็นกิริยาเสวย
ประวัติความเป็นมา สมัยนั้น มีมาณพคนหนึ่งชื่อ ยสะ เป็นบุตรชายของเศรษฐีในเมืองพาราณสีกับนางสุชาดา เป็นที่รักใคร่ของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ทะนุถนอมอย่างแก้วตา มีชีวิตการเป็นอยู่คล้ายคลึงกับที่พระสิทธัตถโคตมะ คือพ่อแม่ได้ปลูกเรือนให้ ๓ ฤดูกล่าวคือ มีความสุขสบายที่สุด มีปราสาท ๓ หลังเป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู ได้รับการเรอด้วยดนตรีล้วนแต่สตรีประโคมไม่มีบุรุษเจือปน ค่ำวันหนึ่ง ยสกุลบุตรนอนหลับก่อน หมู่ชนบริวารหลับต่อภายหลัง แสงไฟยังตามสว่างอยู่ ยสกุลบุตรตื่นขึ้นกลางดึก เห็นหมู่ชนบริวารกำลังนอนหลับ มีอากัปกิริยาพิกลต่างๆ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนเมื่อก่อน คือ บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ที่คอบางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางมีเขฬะไหลบางนางบ่นละเมอต่างๆ หมู่ชนบริวารเหล่านั้นปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า ครั้นยสกุลบุตรได้เห็นแล้วก็เกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่ายมากถึงกับออกอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”ทนดูอากัปกิริยาพิกลต่างๆ นั้นไม่ได้ รำคาญใจ จึงสวมรองเท้าเดินออกจากประตูเมืองไป ตรงไปทางที่จะไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันโดยไม่รู้สึกตัวเองว่าไปถึงไหน แต่ก็รู้สึกสบายใจ ก็เดินเรื่อยไปไม่หยุด ในเวลานั้นจวนใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตร ออกอุทานเช่นนั้น เดินมายังที่ใกล้ จึงตรัสเรียกยสกุลบัตรว่า “ยสะที่นี่ไม่วุ่นวายที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาที่นี่เถิด นั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรมให้ฟัง” ยสกุลบุตรได้ยินเช่นนั้นคิดว่าได้ยินว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” มีความพอใจ จึงถอดรองเท้าเข้าไปใกล้ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงตรัสอนุปุพพิกถาเทศนา คือ ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ ได้แก่การพรรณนาทานกถาการให้ก่อนแล้ว พรรณนาศีล ความรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นลำดับแห่งทาน พรรณนาสวรรค์ พรรณนาโทษของกามคุณ ที่บุคคลใคร่ซึ่งความสุขไม่ยั่งยืน และพรรณนาอานิสงส์ แห่งการออกจากกาม อันเป็นลำดับแห่งโทษของกามเรียกว่าเนกขัมมะ ฟอกจิต ของยสกุลบุตรให้ปราศจากมลทินให้เป็นจิตสมควรรับธรรมเทศนา ให้เกิดดวงตาเห็นธรรมเหมือนผ้าที่ปราศจากมลทินควรแก่การได้รับน้ำย้อมฉะนั้น แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เมื่อจบพระธรรมเทศนา ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมพิเศษเป็นโสดาบันบุคคล ครั้นภายหลังพิจารณาภูมิธรรมที่พระบรมศาสดาตรัสสอนเศรษฐีผู้เป็นบิดาอีกวาระหนึ่ง จิตก็พ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ฝ่ายมารดาของยสกุลบุตร ขึ้นไปบนเรือนในเวลาเช้าไม้เห็นลูกชายจึงบอกกับท่านเศรษฐีผู้สามีให้ทราบ ท่านเศรษฐีใช้ให้คนไปตามหาทั้ง ๔ ทิศ ส่วนตนเองก็ออกเที่ยวหาด้วยบังเอิญเดินไปในทางที่จะไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้เห็นรองเท้าของลูกชายตั้งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วตามเข้าไป ครั้นเศรษฐีเข้าไปถึงแล้ว พระบรมศาสดาได้ตรัสอนุปุพพีกถาเทศนาอริยสัจ ๔ ให้เศรษฐีได้เห็นธรรมแล้ว เศรษฐีทูลสรรเสริญธรรมเทศนาแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกว่า “ข้าพเจ้าถึงพระองค์กับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะที่พึงระลึกที่นับถือ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้า ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” เศรษฐีเมืองพาราณสีนั้นได้เป็นอุบาสก อ้างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบทั้ง ๓ เป็นสรณะ ก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก ท่านเศรษฐีผู้บิดายังไม่ทราบว่า ยสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้วจึงบอกความว่า “พ่อยสะ มานดาของเจ้า เศร้าโศกพิไรรำพัน เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด” ยสกุลบุตรแลดูพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาจึงตรัสแก่เศรษฐีให้ทราบ “ยสกุลบุตร ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วไม่ใช่ผู้ควรจะกลับคืนไปครองฆราวาสอีก” เศรษฐีทูลสรรเสริญว่า “เป็นลาภของยสกุลบุตรแล้ว” และทูลอาราธนาพระบรมศาสดา กับยสกุลบุตรเป็นผู้ติดตามเสด็จ เพื่อทรงรับภัตตาหารในเช้าวันนั้น ครั้นเศรษฐีทราบว่า พระบรมศาสดาทรงรับด้วยพระอาการดุษณีภาพแล้วก็ลุกจากที่นั่งแล้วถวายอภิวาท ทำประทักษิณ (คือเดินเวียนขวา) ๓ รอบ แล้วหลีกไปยังเรือนแห่งตน และแจ้งเรื่องทั้งหมดให้ภรรยาและสะใภ้ได้ทราบ พร้อมกับจัดอาหารบิณฑบาตเช้า เพื่อถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเมื่อเศรษฐีผู้บิดาทูลลาพระบรมศาสดากลับไปไม่ช้า ยสกุลบุตรจึงทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาทรงอนุญาตประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้อุปสมบทด้วยพระวาจาว่า “เอหิภิกขุ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” เช่นเดียวกับที่ทรงประทานแก่ปัญจวัคคีย์แต่ในที่นี้ไม่ได้ตรัสว่า “เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดทุกข์แล้ว คือเป็นพระอรหันต์เสียก่อนแล้วสมัยนั้น ได้มีพระอรหันต์ขึ้นในโลกเป็น ๗ ทั้งพระยสะ ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดากับพระยสะตามเสด็จ เสด็จไปถึงเรือนเศรษฐีนั้นแล้ว ทรงประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งไว้ถวาย มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ โปรดให้สตรีทั้ง ๒ นั้นบรรลุพระโสดาปัตติผลได้เห็นดวงธรรม สตรีทั้ง ๒ นั้น จึงทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แล้วแสดงตนเป็นอุบาสิกาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตโดยนัยหลังต่างแต่เป็นผู้ชายเรียกว่า “อุบาสก” เป็นผู้หญิงเรียกว่า “อุบาสิกา” เท่านั้น สตรีทั้ง ๒ นั้นได้เป็นอุบาสิกาคนแรกในโลก คือเป็นอุบาสิกาก่อนกว่าหญิงอื่นในโลก ครั้นถึงเวลา มารดาบิดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้น้อมนำเอาอาหารอันประณีตเข้าไปอังคาสพระบรมศาสดาและพระยสะ คือ ถวายของเคี้ยวของฉันอันประณีตโดยเคารพด้วยมือของตน พระบรมศาสดาทรงรับอาหาราบิณฑบาตด้วยบาตร และทรงทำภัตตกิจ คือ ฉันอาหารบิณฑบาตแล้วตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนชนทั้ง ๓ ให้เห็น ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงในธรรมแล้วเสด็จกลับไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธจริยาที่ทรงทำภัตตกิจฉันอาหารบิณฑบาตครั้งนี้เป็นภัตตกิจที่ทรงทำครั้งแรกในบ้าน เป็นนิมิตมงคลอันดีสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา ที่มีความพอใจในการทำบุญบำเพ็ญกุศลทานทั่วไปทั้งเป็นแบบอย่างให้มีการทำบุญเลี้ยงพระฟังเทศน์ในบ้านสืบมาจนทุกวันนี้ ข้อนี้เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางภัตตกิจ”
|