ปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์

   

ลักษณะพุทธรูป

    พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถประทับยืน  พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นป้องเสมอพระอุระ  พระหัตถ์ขวาห้อยลงข้างพระกายพักชานุเบื้องขวา  เป็นกิริยาย่อพระบาทเล็กน้อย  พระปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถอื่นก็มี

ประวัติความเป็นมา

    สมัยพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา  ณ  พระนครกบิลพัสดุ์  ได้ทรงสดับเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ  ก็ทรงปีติโสมนัสยิ่งนักที่พระโอรสของพระองค์ได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ  สมดังคำพยากรณ์ของท่านอาจารย์อสิตดาบส  และพราหมณาจารย์ทั้ง  ๘  คน  ทรงตั้งพระทัยคอยเวลาอยู่ว่า  เมื่อใดหนอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จมาพระนครกบิลพัสดุ์

     ครั้นไม่ดี่แววมาเลยว่า  พระพุทธเจ้าจะเสด็จ  ก็ทรงร้อนพระทัยปรารถนาจะให้พระพุทธองค์เสด็จมายังพระนครกบิลพัสดุ์  จึงทรงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารคณะหนึ่ง  ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร  เมืองราชคฤห์  กราบทูลอาราธนา  ให้เสด็จยังพระนครกบิลพัสดุ์ครั้นอำมาตย์และบริวารคณะนั้นเดินทางไปถึงเมืองราชคฤห์  ซึ่งเป็นระยะทางประมาณ  ๖๐  โยชน์  ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลาที่พระองค์กำลังทรงแสดงธรรมอยู่  จึงได้โอกาสฟังธรรมด้วย  ครั้นฟังแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผลทั้งคณะ  จึงทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  ไม่ได้โอกาสที่จะกราบทูลความตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงบัญชามา

     ครั้นกาลล่วงไปนานวันเข้า  พระเจ้าสุทโธทนะเห็นอำมาตย์พร้อมกับบริวารทั้งคณะนั้นหายไป  ก็ทรงส่งคณะใหม่ออกติดตามและให้กราบทูลความประสงค์ของพระองค์  อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์  แม้อำมาตย์ทูตคณะนั้นได้ฟังธรรมแล้วก็สำเร็จอรหัตผลหมดสิ้น  พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งอำมาตย์ไปอาราธนาไม่เป็นผลสำเร็จสมพระทัยดังนี้  ๙  ครั้ง  ครั้งที่  ๑๐  อันเป็นครั้งสุดท้าย  ทรงน้อยพระทัยจึงรับสั่งเรื่องนี้แก่กาฬุทายีอำมาตย์ผู้ใหญ่  ขอมอบเรื่องนี้ให้กาฬุทายีอำมาตย์ช่วยจัดการให้สมพระหฤทัยหวังเถิด  เพราะทรงเห็นว่า  กาฬุทายีเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่อีกทั้งยังเป็นสหชาติสนิทสนม  เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระพุทธองค์มาแต่กาลก่อน

     กาฬุทายีรับสนองพระบัญชาพระเจ้าสุทโธทนะว่า  จะพยายามกราบทูลเชิญเสด็จให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้  แต่ได้กราบทูลลาอุปสมบทด้วย  เพราะแน่ใจว่าตนควรจะได้อุปสมบทในสมัยอันเป็นโอกาสดีงามเช่นนี้แล้ว  พระเจ้าสุทโธทนะจำต้องพระราชทานให้กาฬุทายีทุกอย่างตามที่ทูลขอด้วยความเสียดาย  หากแต่ทรงดีพระทัยว่า  กาฬุทายีอำมาตย์จะได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สมประสงค์

     ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์  พร้อมด้วยบริวารเดินทางมาถึงพระนครราชคฤห์แล้ว  ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ณ  พระเวฬุวันมหาวิหาร  ได้สดับพระธรรมเทศนา  บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยบริวาร  แล้วทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุด้วยกันทั้งสิ้น  เมื่อพระกาฬุทายีบวชแล้วได้  ๘  วัน  ก็พอสิ้นเหมันตฤดู  จะย่างเข้าคิมหันตฤดู  ถึงวันผคุณมาสปุรณมี  คือวันเพ็ญเดือน  ๘  พอดี

     พระกาฬุทายีจึงดำริว่า  พรุ่งนี้ก็เป็นเวลาย่างเข้าฤดูร้อน  บรรดาเหล่าชาวกสิกรทั้งหลายก็เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสด็จ  มรรคาที่จะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์ก็สะดวกสบายพฤกษาชาติที่เกิดเรียงรายตามริมทางก็มีมาก  ซึ่งจะให้ความร่มเย็นแก่ผู้เดินทางเป็นอย่างดี  สมควรที่พระชินสีห์บรมศาสดาจะเสด็จดำเนินไปกรุงกบิลพัสดุ์  แสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ  ดำริแล้ว  พระเถระก็เข้าเฝ้าพระบรมศาสดายังพระคันธกุฎี  กราบทูลพรรณนาทางไปกรุงกบิลพัสดุ์เป็นสุขวิถีทางดำเนินสะดวกสบายตลอดมรรคา  ยามเมื่อแสงแดดแผดกล้าก็มีร่มไม้ได้พักร้อน  เป็นที่รื่นร่มตลอดระยะทาง  ๖๐  โยชน์  หากพระองค์จะทรงบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์โปรดพระประยูรญาติยังกรุงกบิลพัสดุ์บุรีศรี  ก็จะเป็นที่สำราญพระกายไม่ต้องรีบร้อนยามเสด็จพุทธลีลา  ตลอดพระสงฆ์สาวกที่จะติดตามพระบาทก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำท่าและกระยาหาร  ด้วยตามระยะทางมีโคจรคามเป็นที่ภิกษาจารตลอด

     อนึ่งเล่า  พระบรมชนกนาถก็มีพระทัยมุ่งหมายใคร่จะได้  ประสบพบพระองค์ตลอดพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งหมด  หากพระองค์จะทรงพระมหากรุณาเสด็จไปให้สมมโนรถของพระบรมชนกนาถ  ตลอดทั่วพระประยูรญาติศากยวงศ์  แล้วประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสดุ์บุรี  ก็จะเป็นพระเกียรติแก่พระพุทธศาสนา  นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน  เป็นสิริมงคลแก่อนุชนคนภายหลังชั่วกาลนานข้าพระองค์ขออัญเชิญพระพิชิตมารเสด็จสู่กบิลพัสดุ์บุรีโปรดพระชนกนาถและพระประยูรญาติให้ปีติยินดีในคราวนี้เถิด

    เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับสุนทรกถาที่กาฬุทายีเถระกราบทูลพรรณรารวม  ๖๔  คาถา  วิจิตรพิสดาร  ก็ทรงตรัสสาธุการแก่กาฬุทายีแล้วตรัสว่า “ตถาคตจะเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์บุรี  ตามคำขอของท่าน  ณ  กาลบัดนี้ฉะนั้นท่านจงแจ้งข่าวแก่พระสงฆ์ทั้งหลายให้ตระเตรียมการเดินทางไกลตามตถาคตที่ประสงค์จะเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์บุรี”

     เมื่อพระกาฬุทายีออกมาประกาศให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย  ที่มาอยู่สันนิบาตอยู่พร้อมกันให้ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว  บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพทุกองค์ก็เตรียมบาตรจีวร  มาสโมสรรอเสด็จพระบรมศาสดาตามวันเวลากำหนด  ครั้นได้เวลาพระบรมศาสดาจารย์พร้อมด้วยพระสงฆ์ขีณาสพ  ๒  หมื่นเป็นประมาณ  เสด็จดำเนินไปยังกบิลพัสดุ์บุรี  เสด็จโดยมิได้รีบร้อนตามสบาย  ประมาณระยะทางเดินได้วันละ ๑ โยชน์พอดี

     ฝ่ายกาฬุทายีได้ส่งข่าวเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ของพระชินสีหสัมมาสัมพุทธเจ้า  แด่พระเจ้าสุทโธทนะบรมกษัตริย์  ท้าวเธอได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสเบิกบาน  แจ้งข่าวสารแก่พระประยูรญาติทั้งศักยราชและโกลิยวงศ์ในเทวทหนครพระญาติทั้งสองฝ่ายได้มาสโมสร  ประชุมกันต้อนรับที่กบิลพัสดุ์บุรีด้วยความปีติยินดีเกษมศานต์  ได้ร่วมกำลังสร้างนิโครธารามมหาวิหาร  พร้อมด้วยเสนาสนะและพระคันธกุฎีเพื่อรับรองพระชินสีห์และพระสงฆ์สาวกพุทธบริษัทเป็นสถานที่งดงามและเงียบสงัดควรแก่สมณวิสัยเป็นอย่างดี

     ครั้นสมเด็จพระชินสีห์พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก  เสด็จถึงกบิลพัสดุ์บุรี  บรรดาพระประยูรญาติที่มาสโมสรต้อนรับอยู่ทั่วหน้ามีพระเจ้าสุทโธทนะ   พระพุทธบิดาเป็นประธาน  ต่างแสดงออกซึ่งความเบิกบานตามควรแก่วิสัย  แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปประทับยังนิโครธารามมหาวิหาร  พระบรมศาสดาจารย์ก็เสด็จขึ้นประทับบนพระบวรพุทธอาสน์   บรรดาพระสงฆ์สาวก  ๒  หมื่นรูป  ต่างก็ขึ้นนั่งบนเสนาอาสน์อันมโหฬารดูงามตระการปรากฏสมเกียรติศากบุตรพุทธชิโนรสบรรดามี

     ครั้งนั้น  บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลายมีมานะทิฏฐิอันกล้า  นึกละอายใจไม่อาจน้อมประนมต์ถวายพระบรมศาสดาได้ด้วยดำริว่า  พระสิทธัตถกุมารมีอายุยังอ่อนไม่ควรแก่อัญชลีกรนมัสการ  จึงจัดให้พระประยูรญาติราชกุมารที่มีพระชนมายุน้อยคราวน้องคราวบุตรหลาน  ออกไปนั่งอยู่ข้างหน้า  เพื่อจะได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา  ซึ่งเห็นว่าควรแก่วิสัย  ส่วนพระประยูรญาติผู้ใหญ่พากันประทับนั่งอยู่เบื้องหลังเหล่าพระราชกุมาร  ไม่ประนมหัตถ์ไม่นมัสการหรือคารวะแต่ประการใด  ด้วยมานะจิตคิดในใจว่าตนแก่กว่า  ไม่ควรจะวันทาพระสิทธัตถกุมาร

     เมื่อพระบรมศาสดาได้ทรงประสบเหตุ  ทรงพระประสงค์ให้เกิดสลดจิตคิดสังเวชแก่พระประยูรญาติที่มีมานะจิตคิดมมังการ  จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ      ให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีพระบาทได้หล่นลงตรงเศียรเกล้าแห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย  ด้วยพุทธานุภาพเป็นอัศจรรย์

     คราวนั้นพระเจ้าสุทโธทนมหาราช  พระพุทธบิดาได้ทรงเห็นปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์  จึงประนมหัตถ์ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า

     “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  แต่กาลก่อน  เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ได้  ๑  วัน  หม่อมฉันให้พระพี่เลี้ยงนำมาเพื่อนมัสการกาลเทวิลดาบส  พระองค์ก็ทรงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏขึ้นไปอยู่บนชฎากาลเทวิลอาจารย์  แม้ครั้งนั้น  หม่อมฉันก็ได้ถวายนมัสการเป็นปฐม  ต่อมางานพระราชพิธีนิยม  ประกอบการวัปปมงคลแรกนาขวัญ  พระพี่เลี้ยงนางนมได้นำพระองค์ประทับบรรทมใต้ร่มไม้หว้า  ครั้นเวลาบ่าย  เงาไม้ก็ไม่ได้ชายไปตามตะวันเป็นปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ได้ปรากฏ  แม้ครั้งนั้น  หม่อมฉันก็ได้ประณตนมัสการเป็นคำรบสอง  ควรแก่การสดุดี  รวมเป็นสามครั้งกับครั้งนี้  ที่หม่อมฉันได้อัญชลีนมัสการ”

     เมื่อสิ้นสุดพระราชบรรหารแห่งพระเจ้าสุทโธทนมหาราช  บรรดาเหล่าพระประยูรญาติสิ้นทั้งหมด  ก็พากันยอกรประณตอภิวาทพนะบรมศาสดาด้วยคารวะเป็นอันดี

     ต่อมาจากนั้น  พระมหามุนีบรมสุคตเจ้าก็เสด็จลงจากอากาศ  ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ในท่ามกลางพระประยูรญาติสมาคม  เป็นที่ชื่นชมโสมนัสสุดจะประมาณ  ด้วยบุญญาภินิหารพระโลกนาถ  ขณะนั้น  มหาเมฆก็ตั้งขึ้นมนอากาศบันดาลหยาดฝนโบกขรพรรษให้ตกลงในที่พระขัตติยะประยูรญาติวงศ์ประชุมกัน  น้ำฝนโมกขรพรรษนั้นมีสีแดงหลั่งไหลเสียงสนั่นลั่นออกไปไกลเหมือนเสียงสายฝนธรรมดา  ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกายจึงจะเปียก  ถ้าไม่ปรารถนาแล้วแม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียกตัว  เหมือนหยาดน้ำตกลงบนใบบัว  แล้วก็กลิ้งตกลงไปมิได้ติดอยู่ให้เปียก  ฉะนั้น  จึงได้นามขนานเรียกว่า  “ฝนโบกขรพรรษ”  เป็นมหัศจรรย์

     ครั้งนั้น  พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็เกิดพิศวง  ต่างองค์ก็สนทนาว่า  มิได้เคยเห็นมาแต่กาลก่อน  พระพุทธองค์จึงมีบรรหารตรัสว่า  “ฝนโบกขพรรษนี้จะตกในที่ชุมมุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้น  ก็หาไม่  ในอดีตสมัย  เมื่อตถาคต  เสวยชาติเป็นพระเวสสันดรบรมโพธิสัตว์  ฝนโบกขรพรรษก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้”  แล้วสมเด็จพระมหามุนีจึงได้ทรงแสดงธรรมเทศนา  เรื่องมหาเวสสันดรชาดกยอยกพระมหาทานบารมีเป็นพุทธานุสานี  โปรดพระประยูรญาติซึ่งเป็นโอกาสอันควรแก่พระธรรมเทศนา  ที่ทรงพระอุตสาหะเสด็จมาเป็นปฐม  ให้พระประยูรญาติมีความนิยมเบิกบาน

     พระพุทธจริยาตอนทรงแสดงปาฏิหาริย์นั้น  นับเป็นสิริมงคลอันอุดม  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์