ปางอุ้มบาตร

   

ลักษณะพุทธรูป

     พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  ส้นพระบาททั้งสองชิดกัน  พระหัตถ์ทั้งสองชิดกัน  พระหัตถ์ทั้งสองยกประคองบาตรราวสะเอว  มีบาตรวางอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ในท่าประคองได้  นิยมเรียกว่า “ปางอุ้มบาตร”  นิยมสร้างขึ้นเป็นประจำวันของคนเกิดวันพุธ

ประวัติความเป็นมา

     ประวัติที่เป็นเรื่องราวนั้นสืบเนื่องต่อมาจากพระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์  กล่าวคือ  เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จไปยังพระนครกบิลพัสดุ์  ครั้งแรกทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์  เหาะขึ้นไปบนอากาศ  ทรมานให้พระประยูรญาติได้ถวายบังคมแล้ว  เสด็จลงมาประทับนั่งพระบวรพุทธอาสน์  ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลงในท่ามกลางสมาคมพระญาติ  แล้วทรงประกาศมหาเวสสันดรชาดกยกขึ้นเป็นเทศนา  ครั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาจบแล้ว  บรรดาพระญาติทั้งหลายมีพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาเป็นประธาน  ก็ได้เบิกบานปีติปราโมทย์เปิดพระโอษฐ์แซ่ซ้องสาธุการแล้ว  พระญาติทั้งหลายก็กราบทูลลาคืนยังพระราชสถานแห่งตน  มิได้มีพระญาติสักองค์หนึ่งได้กราบทูลอาราธนาให้ทรงรับอาหารบิณฑบาตในยามเช้าพรุ่งนี้  แม้แต่พระเจ้าสุทโธทนะก็เพียงแต่ทูลลามิได้ทูลอาราธนาเสวยพระกระยาหารเช้าเช่นกัน  ด้วยทรงนึกไม่ถึงว่า  ธรรมดาพระจะต้องอาราธนา  จึงจะได้มารับบิณฑบาตในบ้าน  ซึ่งเป็นปกติของสามัญชนธรรมดาทั่วไป  แต่พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดากลับทรงรู้สึกอย่างเป็นพระญาติสนิทว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระโอรส  พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นเล่าก็เป็นศิษย์ของพระโอรส  แล้วพระโอรสจะเสด็จไปไหนเสีย  เมื่อไม่มายังพระราชนิเวศน์ของพระองค์  ไม่จำต้องอาราธนาโดยแน่พระทัยว่า  พระบรมศาสดาจะต้องทรงพาพระสาวกทั้งหลายมาเสวยพระกระยาหารในพระราชนิเวศน์เป็นแน่แท้  การเสด็จไปเสวยที่คฤหาสน์ของใครที่ไหน  แม้จะเป็นพระญาติของพระองค์  ก็ไม่เหมาะไม่ควรเท่ากับเสด็จมายังพระราชนิเวศน์  พระเจ้าสุทโธทนะทรงแน่พระทัยดังนี้  จึงไม่เปิดพระโอษฐ์ออกพระวาจาทูลอาราธนา  ยิ่งไปกว่านั้นยังกลับเห็นว่า  หากออกพระกระแสรับสั่งอาราธนาขึ้น  การก็จะกลับกลายไปว่าพระบรมศาสดาเป็นคนอื่น  มิใช่พระโอรส  ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะแน่พระทัยเช่นนี้แล้ว  เมื่อเสด็จถึงพระราชนิเวศน์  จึงโปรดให้พนักงานจัดแจงตกแต่งอาหารอันประณีตเป็นพิเศษไว้พร้อมมูล  เพื่อถวายพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งมวลในวันพรุ่งนี้

        ตลอดเวลาเย็นถึงเวลารุ่งเช้า  เมื่อไม่ปรากฏว่ามีใครอาราธนาพระบรมศาสดาไปเสวย  ณ  ที่ใดแล้ว  พระพุทธองค์ก็ทรงพิจารณาว่า  “พระพุทธเจ้าในปางก่อน  เมื่อเสด็จมาประทับอยู่  ณ  พระนครของพระพุทธบิดาแล้ว ทรงปฏิบัติอย่างไร  ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า  พระพุทธเจ้าในปางก่อนได้เสด็จไปบิณฑบาตตามลำดับตรอก”  ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบอย่างนี้แล้วจึงทรงพาภิกษุสงฆ์บริษัทเสด็จพระดำเนินไปตามท้องถนนหลวง  รากฎแก่ประชาราษฎร  จึงต่างก็ได้โอกาสชมพระบารมีและมีความปีติยินดีประนมหัตถ์นมัสการ  นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์  ได้เห็นพระบรมศาสดาทรงอุ้มบาตร    เสด็จพระพุทธลีลาโปรดประชาสัตว์  เป็นการเพิ่มพูนความปีติโสมนัสสุดที่จะพรรณนา  พระพุทธจริยาตอนนี้เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า  “ปางอุ้มบาตร