ปางรับผลมะม่วง

   

ลักษณะพุทธรูป

   พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา  พระหัตถ์ขวาทรงถือผลมะม่วงและวางหลังหัตถ์ไว้บนพระเพลา  หงายพระหัตถ์ให้เห็นผลมะม่วงที่ทรงถืออยู่

ประวัติความเป็นมา

   พระบรมศาสดาทรงโปรดพระพุทธบิดาให้ดำรงอยู่ในพระอริยบุคคลชั้นอนาคามี  โปรดพระนางปชาบดีโคตมี  และพระนางพิมพาเทวีให้อยู่ในพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน  โปรดให้นันทกุมารพุทธอนุชาให้ทรงผนวชเป็นภิกษุ  โปรดให้ราหุลกุมารซึ่งเป็นพุทธชินโอรสบรรพชาเป็นสามเณร  และโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในพระอริยบุคคลอันควรแก่วิสัย  ตลอดเวลาหนึ่งพรรษา  ครั้นออกพรรษากาลแล้ว  ก็เสด็จกลับมาประทับที่พระเวฬุวันมหาวิหาร  พระนครราชคฤห์

     กาลต่อมา  ท่านอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐีเมืองสาวัตถี  มีโอกาสมายังกรุงราชคฤห์และได้ฟังธรรมเทศนาแล้วบรรลุอริยธรรมเป็นโสดาบันบุคคล  ได้ถวายไทยทานแด่พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก  กับได้อาราธนาพระพุทธองค์ขอเสด็จไปประทับจำพรรษา  ณ  พระนครสาวัตถี  โดยจะสร้างพระวิหารถวาย  เมื่อพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว  ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีก็รีบกลับยังพระนครสาวัตถีขอซื้อสวนของเจ้าชายเชตกุมารแล้วสร้างมหาวิหารพร้อมด้วยเสนาสนะให้สมบูรณ์ทุกประการ  สิ้นทรัพย์เป็นจำนวน  ๕๔  โกฏิ  แล้วขนานนามพระวิหารนั้นว่า  “พระเชตวันมหาวิหาร”   แล้วทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ให้เสด็จมาประทับจำพรรษา  ณ  พระเชตวันมหาวิหาร

     พระบรมศาสดาได้แสดงธรรมเทศนาประกาศพระพุทธศาสนา  ให้มหาชนตั้งต้นแต่พระเจ้าปเสนทิโกศลลงมาให้เลื่อมใสตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมณ์เป็นอันมาก  โดยกาลไม่นานแล้ว  พระองค์ก็เสด็จมาประทับยังพระเวฬุวันมหาวิหารอีก

     กาลครั้งนั้น  ยังมีเศรษฐีในนครราชคฤห์ผู้หนึ่ง  ยังไม่ได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและไม่ได้เลื่อมใสในลัทธิของอาจารย์อื่นใดทั้งสิ้น  เป็นคนไม่มีศาสนา  แต่กำลังจะหันมาสนใจโดยใคร่ครวญว่า  ตนควรจะนับถือศาสนาของผู้ใดหรือควรตั้งอยู่ในลัทธิของอาจารย์ใดจึงจะดี  ก็บังเอิญท่านเศรษฐีได้แก่นไม้จันทร์แดงมาท่อนหนึ่ง  ขณะที่ไปเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา  ก็นึกอุบายอย่างหนึ่งได้  จึงให้ช่างไม้เอาแก่นไม้จันทร์แดงท่อนั้นมากลึงเป็นบาตรลูกหนึ่ง  แล้วให้วางไว้ในสาแหรกแขวนไว้บนปลายไม้ไผ่ต้นหนึ่งที่หน้าเรือนแห่งตน  พร้อมกันนั้นก็ให้คนใช้ประกาศว่า  เวลานี้มีข่าวโจษจันกันเนือง ๆ ว่าบัดนี้  มีพระอรหันต์บังเกิดขึ้นในโลกแล้ว  แต่ว่าเรายังไม่รู้จักพระอรหันต์  ทั้งไม่มีญาณวิเศษอันใดจะหยั่งรู้ได้ว่า  ท่านองค์ใดเป็นพระอรหันต์อีกด้วย  ก็แต่ว่าข้าพเจ้าอยากจะรู้จักพระอรหันต์  เมื่อรู้แล้วจะได้เคารพ  สักการบูชา  ยอมตนเป็นศิษย์ดังนั้นถ้าท่านองค์ใดองค์องค์หนึ่งเป็นพระอรหันต์แล้วไซร้ขอให้ท่านองค์นั้นจงเหาะมาทางอากาศถือบาตรไม้จันทร์ลูกนี้เถิด  ข้าพเจ้าจะยอมรับว่าท่านองค์นั้นเป็นพระอรหันต์แท้ด้วยวิธีนี้เป็นสำคัญ

     อนึ่งเล่า  ถ้าภายใน  ๗  วันนับแต่วันที่ประกาศนี้ไป  หากไม่มีพระอรหันต์องค์ใดเหาะมาเอาบาตรไม้จันทร์แล้วไซร้ข้าพเจ้าจะตกลงใจว่า  ไม่มีอรหันต์ในโลกนี้  คำที่มหาชนกล่าวกันว่ามีพระอรหันต์นั้นก็เท็จ  ไม่เป็นความจริง

     อุบายของท่านเศรษฐีนี้ได้ผล  เพราะภายใน  ๒-๓ วันนั้นเองได้มีเจ้าลัทธิต่างๆ ที่ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ได้พากันร้อนตัวจัดส่งศิษย์ของตนมาพบท่านเศรษฐีเป็นการด่วนพูดจาหว่านล้อมพร้อมกับแสดงวิธีต่างๆ ประกอบ  เพื่อให้เป็นคนรักษาคำพูด  จึงยื่นคำขาดว่าเหาะมาเอาเถิด  ถ้าเป็นพระอรหันต์

      ในวันคำรบ  ๗  ตอนเช้า  พระมหาโมคคัลลานเถระกับพระปิณโฑลภารทวาชเถระออกจากวิหาร  มายืนห่มจีวรอยู่ที่บนแผ่นหินดาดนอกเมือง  ได้ยินข่าวคนโจษกันว่า  บัดนี้ครบ  ๗  วันแล้วไม่เห็นมีพระอรหันต์เหาะมาเอาบาตร  พระอรหันต์ในโลกนี้ไม่มีแน่แล้ว  พระโมคคัลลาเถระ  จึงกล่าวกับพระปิณโฑลภารทวาชเถระว่า  ท่านปิณโฑละ  ได้ยินคนเขาพูดกันไหมคนเหล่านี้กำลังย่ำเหยียบเกียรติของพระศาสดาความจริง  ท่านก็มีฤทธิ์มาก  ท่านควรจะเหาะไปเอาบาตรไม้จันทร์แดงนี้เสียเถิด 

     พระปิณโฑลภารทวาชเถระตอบว่า  พระคุณท่านนั้นแหละเป็นผู้เลิศในหมู่พระสาวกที่มีฤทธิ์มาก  ฉะนั้น  พระคุณท่านควรจะไปเอาบาตร  แต่เมื่อท่านไม่ไปกระผมจะไปเอาเองพูดแล้วพระปิณโฑลภารทวาชเถระก็เข้าจตุตถฌาณมีอภิญญาเป็นบาท  ทำปาฏิหาริย์แสดงฤทธิ์  เอาปลายเท้าคีบหินดาดแผ่นนั้นซึ่งใหญ่ยาวประมาณ  ๓  คาวุต  ลอยขึ้นไปบนอากาศเสมือนปุยนุ่นติดเท้าพระเถระไป  เวียนรอบอยู่บนพระนครราชคฤห์  ๗  รอบ  ลักษณาการของหินดาดนั้นคลายกับฝาละมีจะปิดพระนครฉะนั้น

      ท่านเศรษฐีเห็นแล้วหมอบลงกราบ  อาราธนาให้พระเถระลงมานั่งบนอาสนะในเรือนของตนแล้ว  นำบาตรไม้จันทร์ลงมา  จัดอาหารอันประณีตใส่บาตรให้เต็มแล้วถวายพระเถระเจ้าพระปิณโฑลภารทวาชะรับบาตรแล้วเหาะบ่ายหน้ากลับพระวิหาร  ในขณะนั้นมหาชนที่ยังไม่ได้ชมปาฏิหาริย์ของพระเถระก็พากันวิ่งตามไปพระวิหารขอร้องให้พระเถระแสดงปาฏิหาริย์ให้ชมอีก  เสียงร้องของมหาชนนั้นอื้ออึงลั่นพระวิหาร 

      พระบรมศาสดาดับเสียงนั้นแล้ว  จึงรับสั่งถามพระอานนทเถระ  ครั้นทราบความแล้วทรงตำหนิ  พร้อมกับโปรดให้ทำลายบาตรไม้จันทร์นั้นเสียย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ ถวายพระสำหรับทำโอสถ  แล้วทรงบัญญัติห้ามมิให้พระสาวกทำปาฏิหาริย์อีกต่อไป

      ครั้นพวกเดียรถีย์ได้ทราบข่าวนั้นแล้ว  พากันดีใจว่าเป็นโอกาสของพวกเราแล้ว  จึงให้สาวกของตนออกประกาศว่า  เราจะทำปาฏิหาริย์กะพระสมณโคดม

      พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับข่าวนั้นแล้ว  ร้อนพระทัยด้วยความเป็นห่วง  รีบไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระวิหารแล้วทูลว่า  “พระองค์ทรงบัญญัติห้ามพระสาวกทำปาฏิหาริย์แล้วเป็นความจริงหรือพระเจ้าค่ะ”

      “เป็นความจริง  มหาบพิตร”  พระพุทธองค์ทรงรับสั่ง

      “ถ้าพวกเดียรถีย์จะทำปาฏิหาริย์แล้ว  พระองค์จะทำอย่างไร”

      “พวกเดียรถีย์ทำ  ตถาคตก็จะทำด้วย”

      “ถูกแล้ว  มหาบพิตร  ตถาคตห้ามพระสาวกต่างหาก  หาได้ห้ามอาตมาไม่  เหมือนเจ้าของสวนห้ามเก็บผลไม้  ความจริงก็หาได้ห้ามเจ้าของสวนเก็บมิใช่หรือมหาบพิตร”

      พระเจ้าพิมพิสารทูลถามต่อไปว่า  “พระองค์จะทำที่ไหนและทำเมื่อใด”  ขอถวายพระพร  มหาบพิตร  ตถาคตจะทำที่เมืองสาวัตถี  ในวันเพ็ญเดือน  ๘  นับแต่นี้ไปอีก  ๔  เดือน” 

      ครั้นพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่  พระนครราชคฤห์พอสมควรแก่อัธยาศัยแล้วก็เสด็จไปยังพระนครสาวัตถี  พวกเดียรถีย์ได้ทีก็กล่าวโจษว่า  พระสมณโคดมหนีไปแล้ว  เราจะไม่ลดละ  จะติดตามไปทำปาฏิหาริย์ด้วย

      ครั้นย่างเข้าเดือน  ๘  ใกล้เวลาทำปาฏิหาริย์  พวกเดียรถีย์ได้จัดสร้างมณฑปใหญ่  ประดิษฐ์ด้วยไม้ตะเคียนงามวิจิตรประกาศให้มหาชนทราบว่า  ตนจะทำปาฏิหาริย์

      ครั้งนั้น  พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ารับจะทำมณฑปถวายเพื่อทำปาฏิหาริย์  พระพุทธองค์ไม่ทรงรับและตรัสว่า  “ตถาคตจะทำปาฏิหาริย์ที่ร่มไม้มะม่วงมหาบพิตร”

      พวกเดียรถีย์ครั้นทราบอย่างนั้นแล้ว  จึงจ่ายทรัพย์จ้างให้คนทำลายต้นมะม่วงในที่สาธารณะทั้งในเมืองและนอกเมืองให้หมด  เพื่อมิให้โอกาสแก่พระพุทธองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ 

      ครั้นวันเพ็ญแห่งอาสาฬหมาส  คือเวลาเช้าแห่งวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  กลางเดือน  ๘  พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปภายในพระนครสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต  ประจวบกับราชบุรุษรักษาสวนหลวงคนหนึ่ง  ชื่อ  คัณฑะ  เห็นมะม่วงทะวายมดแดงทำรังหุ้มอยู่  กำลังสุกจึงได้สอยผลมะม่วงผลนั้นลงมา  เมื่อทำความสะอาดดีแล้ว ก็จัดใส่ภาชนะนำไปจากสวยเพื่อถวายพระราชา  พอดีเห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกล  ก็มีความเลื่อมใสพลางดำริว่า  มะม่วงผลนี้หากเราจะเอาไปถวายพระราชาก็คงจะได้รับพระราชทานรางวัลไม่เกิน  ๑๖ กหาปนะ  แต่ถ้าเราจะน้อมถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  จะเป็นมหากุศลอำนวยผลอานิสงส์ให้เป็นประโยชน์สุขแก่เราสิ้นกาลนาน  เมื่อนายคัณฑะดำริเช่นนี้แล้ว  ก็น้อมมะม่วงสุกผลนั้นเข้าไปถวายพระพุทธองค์

      ครั้นพระบรมศาสดา  ทรงรับผลมะม่วงของนายคัณฑะแล้ว  ประสงค์จะประทับนั่ง  ณ  ที่ตรงนั้น  พระอานนทเถระก็จัดอาสนะถวายประทับตามพุทธประสงค์  ครั้นประทับนั่งแล้วทรงหยิบผลมะม่วงในบาตรส่งให้พระอานนท์ทำปานะพระอานนทเถระ  ก็จัดทำปานะมะม่วงถวายตามพระประสงค์ครั้งนั้นพระพุทธองค์เสวยแล้วก็ทรงส่งเม็ดมะม่วงให้นายคัณฑะว่า  คัณฑะเธอจงคุ้นดินร่วนขึ้นทำเป็นหลุมปลูกมะม่วงเมล็ดนี้  ณ  ที่นี้เถิด

      นายคัณฑะก็จัดปลูกมะม่วงเมล็ดนั้นถวายพระบรมศาสดา  ณ  ที่นั้น 

      พระบรมศาสดา  ทรงล้างพระหัตถ์บนเมล็ดมะม่วงนั้นในทันใดนั้นก็พลันบังเกิดความอัศจรรย์ขึ้น  เมล็ดมะม่วงนั้นเกิดงอกออกต้นขึ้นทันที  และในชั่วขณะที่นายคัณฑะพร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลายมองดูอยู่ด้วยความพิศวง  ต้นมะม่วงต้นน้อยๆนั้น  ก็ค่อยเติบโตออกกิ่งใหญ่ๆ ถึง  ๕  กิ่ง  แต่ละกิ่งยื่นยาวออกไปถึง  ๕๐  ศอก  ทั้งล้วนตกดอกออกผล  มีทั้งผลดิบผลสุกแลอร่ามไปทั้งต้นร่วงหล่นเกลื่อนพื้นพสุธา

      นายคัณฑะมีปีตีเลื่อมใส  ได้ประสบความหัศจรรย์เฉพาะหน้า  ก็เก็บผลมะม่วงสุกที่หล่นลงมาถวายพระสงฆ์ทั้งหลายที่ติดตามมาให้ฉันจนอิ่มหนำสำราญโดยทั่วถึงกันแล

      พระพุทธจริยาตอนรับผลมะม่วงจากนายคัณฑะนี้เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า  “ปางรับผลมะม่วง