ปางประทับยืน

   

ลักษณะพุทธรูป

     พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถทรงประทับยืนตามปกติ  ห้อยพระหัตถ์ทั้งสองข้างลงชิดพระกายอย่างสบาย ๆ แสดงว่า  ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรอันจะทำให้ต้องไหวพระกายคือประทับยืนเฉยๆ น่าจะเรียกตามเหตุว่า “ปางเมตตาการุญ

ประวัติความเป็นมา

      เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จจากคันธกุฏี  อันเป็นพุทธจริยาวัตรในเวลาเช้าทุกๆวัน ด้วยกิจนิมนต์เสวย  หรือเสด็จออกไปโปรดสัตว์นั้น  ก็เสด็จออกประทับยืน  ณ  หน้ามุขพระคันธกุฏี  เพื่อทอดพระเนตรดูความพร้อมเพรียงของพุทธบริษัท   หรือก่อนจะเสด็จเข้าไปในบ้านคนใจบุญทูลอาราธนาไว้พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก  เมื่อเสด็จออกจากคันธกุฏีแล้วจะต้องประทับยืนในท่านี้  ณ  หน้าคันธกุฏีเป็นปกติเมื่อทรงเห็นว่าพระสงฆ์สาวกพร้อมเพรียงดีแล้ว  ก็ทรงเสด็จเป็นประธานนำพระสงฆ์สาวกไป 

        ก่อนแต่จะเสด็จออกจากพระคันธกุฏี  เมื่อเป็นประธานนำพระสงฆ์สาวกไปนั้น  พระพุทธอุปัฏฐากซึ่งมีพระอานนท์เป็นต้น  จะต้องเข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบก่อนแล้วว่า  พระสงฆ์สาวกพร้อมแล้ว  เป็นเวลาสมควรที่พระองค์จะเสด็จไปแล้ว  แม้อย่างนั้น  เมื่อเสด็จออกมาแล้วก็ต้องเสด็จมาประทับยืนที่หน้าพระคันธกุฏีก่อน  เพื่อทอดพระเนตรความพร้อมเพรียงความเป็นระเบียบอันดีของพระสงฆ์  ไม่ทรงด่วนนำพระสงฆ์ไปทันที  โดยมิทันได้ชมความพร้อมพรั่งเป็นอันดีของพระสงฆ์ต่อเมื่อได้ทรงความยินดีต่อพระสงฆ์ให้ทราบว่า  ทรงพอพระทัยในความพร้อมเพรียงเป็นอันดีของพระสงฆ์แล้ว  จึงเสด็จนำพระสงฆ์ไป

         พระพุทธจริยาอันนี้  จึงเป็นพระพุทธจริยาวัตรที่แสดงซึ่งน้ำพระทัยให้ปรากฏว่า  ทรงมากด้วยพระเมตตา  พระกรุณาในพระสาวก  ทั้งเป็นเนติแบบอย่างอันดีสำหรับพระสงฆ์สาวกผู้เป็นเจ้าหมู่  เจ้าคณะจะพึงอนุวัตรตาม  นับเป็นความงามในพระธรรมวินัยนี้  จึงเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางประทับยืน