ปางคันธารราฐ (หรือปางขอฝน) |
ลักษณะพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ ทรงผ้าอุทกสาฎก พระหัตถ์ขวายกขึ้นเป็นกิริยากวัก แสดงอาการขอฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายแบบรองรับน้ำฝนซึ่งวางอยู่บนพระเพลา พระพุทธรูปปางนี้ นิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปางคันธารราฐบ้างปางคันธาระบ้าง เพราะพระพุทธรูปปางนี้สร้างขึ้นที่เมืองคันธาระเป็นครั้งแรก เวลาประมาณ พ.ศ. ๔๐๐ และผู้สร้างเป็นปฐมกษัตริย์คือพระเจ้ามิลินทราช ผู้ครองเมืองคันธาระ จึงนิยมเรียกพระพุทธรูปปางนี้ตามชื่อเมืองว่า “ปางคันธาระ” ประวัติความเป็นมา สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารในเมืองสาวัตถี บังเอิญในเวลานั้นเขตแคว้นโกศลเกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล หาน้ำใช้ยากน้ำในสระ ในหนอง ในคลองและบึงบ่อน้อยก็เหือดแห้งเพราะฝนไม่ตก ประชาราษฎรลำบากด้วยน้ำมากที่สุด แม้แต่สระใหญ่อันเป็นสระโบกขรณีภายในพระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่สำหรับพระสงฆ์ ตลอดจนคนผู้ที่สัญจรผ่านไปมาได้อาศัยอาบดื่มกินก็แห้งขอดติดก้นสระ ฝูงปลาที่อาศัยอยู่ในสระนั้นก็ต้องเดือดร้อนมิใช่แต่อาศัยอยู่เท่านั้น ยังต้องประสบภัยจากเหยี่ยวกา และนกยางพากันมาโฉบจับกินเป็นอาหารอีกด้วย วันหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับจากโปรดสัตว์ในเวลาเช้า หลังจากทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นความลำบากของฝูงปลาเช่นนั้น ก็ทรงพระกรุณาประสงค์จะอนุเคราะห์บำบัดทุกข์ร้อนของปลา ตลอดผู้คนที่ตรงมาสระโบกขรณีโดยมุ่งหวังจะดื่มน้ำแล้ว แต่กลับผิดหวังต้องกลับไปด้วยใบหน้าอันซีดเซียว จึงรับสั่งเรียกผ้าชุบสรงจากพระอานนทเถระพุทธอุปัฏฐาก พระอานนท์สงสัยจึงกราบทูลว่า น้ำในสระโบกขรณีหน้าวัดแห้งจวนจะหมดแล้วพระพุทธเจ้าข้า พระบรมศาสดาตรัสว่า อานนท์ ไม่ใช่ตถาคตจะสรงน้ำในสระดอก แต่จะสรงน้ำฝน แม้พระอานนท์จะยังงงงวยในพระพุทธดำรัสอยู่ ด้วยไม่เห็นฟ้าฝนที่ไหน ทั้งแสงแดดก็ยังกล้าปรากฏอยู่แก่ตาเช่นนั้น แต่เมื่อเป็นพระกระแสรับสั่ง ทั้งเชื่ออยู่ในอานุภาพของพระบารมี จึงได้นำเอาผ้าชุบสรง (ผ้าอุทกสาฎก) น้อมเข้าไปถวาย พระบรมศาสดาทรงชุบสรง ชายข้างหนึ่งทรงปกปิดพระวรกาย ชายอีกข้างหนึ่งตวัดขึ้นพาดพระอังสะ (บ่า) ลงมา แล้วเสด็จไปประทับ ณ บันไดสระ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ในทันใดนั้น ด้วยอานุภาพของพระพุทธองค์ซึ่งมีพระหฤทัยเมตตากรุณาต่อหมู่สัตว์ทั้งหลาย มหาเมฆก็ตั้งเค้าขึ้นแล้วให้ฝนตกลงมาเป็นอันมากทั่วทิศานุทิศ ให้พระพุทธองค์ได้สรงน้ำฝนสมพระวาจาที่รับสั่ง และสมพระกรุณาที่จะอนุเคราะห์ฝูงปลา เป็นเหตุอันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ด้วยปรากฏว่า น้ำฝนได้ทำให้ประชาราษฎร์ทั่วไปและสัตว์ที่ลำบากด้วยน้ำ ปรารถนาน้ำฝนอยู่อย่างมาก ก็ได้พึ่งพระพุทธบารมีได้ความสุขสำราญจากน้ำฝนโดยทั่วกัน พระพุทธจริยาตอนนี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางคันธารราฐ” หรือ “ปางขอฝน” |