ปางประทานพร

   

ลักษณะพุทธรูป

    พระพุทธรูปปางนี้มี ๒  แบบคือ    แบบหนึ่งอยู่ในพระอิริยาบถยืน  ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระ  หงายฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างนอกบ้าง  ยกขึ้นเสมอพระอังสาถือชายจีวรบ้าง  พระหัตถ์ขวาห้อย  หันฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า  เป็นกิริยาประทาน

     อีกแบบหนึ่ง  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ  พระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา  พระหัตถ์ขวาแบฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปวางหงายอยู่บนพระชานุ

ประวัติความเป็นมา

     เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจาริกไปแสดงธรรมสั่งสอนพุทธเวไนย  ณ  พระนครพาราณสีครั้นใกล้เทศกาลเข้าพรรษาจึงเสด็จพุทธดำเนินมายังพระนครสาวัตถี  พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จประทับอยู่  ณ  พระเชตวันมหาวิหาร  อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  และพระพุทธองค์ได้ประทานพรให้แก่หมอชีวกโกมารภัจจ์ที่อัมพวันสวนมะม่วงของหมอชีวก  ทรงประทานพรให้แก่พระอานนทเถระ  ให้เข้าเฝ้าได้ทุกเวลา  ให้ถามปัญหาได้ทุกข้อ  และทรงประทานพรให้แก่นางวิสาขามหาอุบาสิกาให้ถวายเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่พระสงฆ์  และเป็นอุบาสิกาคนแรกที่ดำริถวายอุทกสาฎกให้แก่พระสงฆ์  และนางภิกษุณีตลอดชีวิตเป็นพร  ๘  ประการคือ

       พรที่ ๑  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายวัสสิกสากฎ  ผ้าอาบน้ำฝน

       พรที่  ๒  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายอาคันตุกภัต  อาหารสำหรับพระต่างถิ่นที่จรมา

       พรที่  ๓  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคมิกภัต  อาหารสำหรับพระเตรียมจะเดินทางไกล

       พรที่  ๔  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานภัต  อาหารสำหรับพระอาพาธ

       พรที่  ๕  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานุปัฏฐากภัต  อาหารสำหรับพระพยาบาลพระอาพาธ

       พรที่  ๖  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายคิลานเภสัช  ยาสำหรับพระอาพาธ

       พรที่  ๗  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายธุวยาคู  ยาคูประจำ

       พรที่  ๘  สำหรับภิกษุณีสงฆ์  ขอให้หม่อมฉันได้ถวายอุทกสาฏก  ผ้าผลัดอาบน้ำจนตลอดชีวิต

       ครั้นแล้วพระพุทธองค์ก็”ด้ทรงประทานพร  แล้วตรัสว่าภิกษุทั้งหลายจำเดิมแต่นี้ไปเราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฏก  อาคัน  ตุกภัต  คมิกภัต  คิลานภัต  คิลานุปัฏฐากภัต  คิลานเภสัช  ยาคูประจำ  และอนุญาตอุทกสาฏกสำหรับภิกษุณีสงฆ์  จบลงด้วยพระโอวาทที่ตรัสประทานพรตักเตือนให้ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ให้รู้จักประมาณ  รู้จักพอดี  ยังความเปรมปรีดิ์ปราโมทย์ให้เกิดแก่พระสงฆ์ทั้งหลายโดยทั่วกัน

       พระพุทธจริยาตอนประทานพรแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็ดีตอนทรงประทานพร  แก่พระอานนทเถระผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากก็ดีตอนทรงประทานพรแก่นางวิสาขาทั้ง  ๘  ประการนี้ก็ดี  นับเป็นมงคลนิมิตหมายอันดี  เป็นสาเหตุให้จัดสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า  “ปางประทานพร”  ขึ้น