พระสารีบุตร มีนามเดิมว่า "อุปติสสะ" เป็นบุตรของพราหมณ์ผู้พร้อมด้วยโภคทรัพย์และบริวาร ชื่อ วังคันตะ และ นาวสารี ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอุปติสคามแห่งตำบลตำบลนาลกะ หรือตำบลนาลันทะ ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์
อุปติสสมาณพเป็นเพื่อนสนิทกับโกลิตมาณพ หรือพระมหาโมคคัลลานะ ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกัน ทั้งสองเบื่อชีวิตการครองเรือนที่วุ่นวาย จึงพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยสอนหมู่ศิษย์ต่อไป มาณพทั้งสองยังไม่พอใจในคำสอนของสัญชัยปริพาชก เพราะไม่ใช่แนวทางที่ต้องการ จึงตกลงแยกกันไปตามหาครูผู้สามารถสอนความจริงของโลกให้ประจักษ์ได้อย่างแท้จริง และสัญญากันว่าถ้าใครเจอครูเช่นว่าแล้วก็จะมาบอกกันมิได้อำพราง
ต่อมาอุปติสสมาณพได้เข้าไปในกรุงราชคฤห์ ได้พบพระอัสสชิซึ่งเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์กำลังบิณฑบาต อุปติสสมาณพเห็นพระอัสสชิมีอาการน่าเลื่อมใส มีความประทับใจ จึงเข้าไปถามพระอัสสชิว่า “ผู้ใดเป็นศาสดาของท่าน” พระอัสสชิตอบว่า “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสศากยราช เป็นศาสดา” อุปติสสมาณพจึงขอให้อัสสชิแสดงธรรม พระอัสสชิได้ออกตัวว่าพึ่งบวชได้ไม่นาน ไม่อาจแสดงธรรมโดยกว้างขวาง อุปติสสมาณพจึงขอให้พระอัสสชิแสดงธรรมสั้นๆ ก็ได้ พระอัสสชิได้แสดงธรรมแก่อุปติสสมาณพ เรียกกันว่า “คาถาเยธัมมา” เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า “เย ธัมมา” ในสมัยโบราณถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อุปติสสมาณพได้นำคำสอนพระอัสสชิไปแจ้งให้โกลิตมาณพทราบ โกลิตมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน
มาณพทั้งสองได้ไปชักชวนสัญชัยปริพาชกให้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยกัน แต่สัญชัยปริพาชกไม่ยอมไป มาณพทั้งสองก็รบเร้าว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เอง เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง ต่อไปคนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร สัญชัยปริพาชกจึงถามว่า “ในโลกนี้มีคนโง่หรือคนฉลาดมากกว่ากัน” มาณพทั้งสองตอบไปว่า “คนโง่มากกว่า” สัญชัยปริพาชกจึงกล่าวแก่มาณพทั้งสองว่า “ปล่อยให้คนฉลาดไปเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ให้คนโง่ซึ่งมีจำนวนมากกว่ามาเป็นลูกศิษย์ของเรา เราจะได้รับเครื่องสักการะจากคนจำนวนมาก คนฉลาดอย่างเธอทั้งสองจะไปเป็นศิษย์ของพระสมณโคดมก็ตามใจ”
อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนเวฬุวนาราม ในกรุงราชคฤห์ ในขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังประทับท่ามกลางพุทธบริษัทจำนวนมาก เมื่อเห็นมาณพทั้งสองกำลังเดินมา จึงตรัสบอกภิกษุสงฆ์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย มาณพทั้งสองคนนี้จะเป็นอัครสาวกของตถาคต”
มาณพทั้งสองได้ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุ พระมหาโมคคัลลานะอุปสมบทได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์ พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายว่า การที่พระสารีบุตรได้บรรลุพระอรหันต์ช้ากว่าพระมหาโมคคัลลานนั้น เป็นเพราะพระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญามาก ต้องใช้บริกรรมใหญ่ เปรียบด้วยการเสด็จของพระราชา ต้องตระเตรียมราชพาหนะและราชบริวาร จึงจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าการไปของคนสามัญ
พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ กรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระสารีบุตร ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน (ลุง) พระสารีบุตร เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามปัญหา พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับ ทิฏฐิและเวทนา ทีฆนขะได้บรรลุโสดาบัน ส่วนพระสารีบุตรนั้น ท่านกำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ ท่านได้ยินธรรมเหล่านั้นอยู่ด้วย ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ วันนั้นเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต (ขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะ) คืนนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ให้กับพระอรหันต์ 1,250 รูป รวมอัครสาวกทั้งสองด้วย
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นผู้สามารถจะแสดงพระธรรมจักรและพระจตุราริยสัจให้กว้างขวางพิศดารเสมอพระองค์ เมื่อมีภิกษุมาทูลลา พระพุทธเจ้าเพื่อจะเที่ยวจาริกไป พระองค์มักจะตรัสให้ภิกษุที่มาทูลลา ไปลาพระสารีบุตร เพื่อท่านสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอน ในการไปของพวกเธอ จะได้ไม่เกิดความเสียหาย และทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นคู่กับพระมหาโมคคัลลานะ เช่น ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ... สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนม ผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนสูงกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา และพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย
พระสารีบุตรได้รับการยกย่องมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมเสนาบดี พระสงฆ์ผู้ประกาศพระศาสนาได้ชื่อว่า ธรรมเสนา เป็นกองทัพธรรมที่ประกาศเผยแผ่ธรรม เมื่อไปถึงที่ไหนก็ทำให้เกิดประโยชน์และความสุขที่นั่น พระพุทธเจ้าเป็น “พระธรรมราชา” โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดี หรือแม่ทัพฝ่ายธรรม
พระสารีบุตรยังได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที พึงเห็นตัวอย่างได้จาก เมื่อท่านได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสชิแสดง ได้ธรรมจักษุแล้วมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาท่านก็นับถือพระอัสสชิว่า เป็นอาจารย์ทำการเคารพอยู่เสมอ แม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอน ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน แล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น
ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ราธะ ต้องการอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่ไม่มีภิกษุรูปใดรับอุปสมบทให้ เพราะเป็นผู้ชราภาพ ราธะเมื่อไม่ได้บวชก็เสียใจมาก พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นราธะ จึงตรัสถามหมู่ภิกษุว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะบ้าง พระสารีบุตรได้กราบทูลว่า ท่านระลึกได้ ครั้งหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ราธะได้ถวายข้าวแก่ท่านทัพพีหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญว่า ท่านเป็นผู้กตัญญูดีนัก อุปการะเพียงเท่านี้ยังจำได้ จึงตรัสให้ท่านรับบรรพชาอุปสมบทราธพราหมณ์
พระสารีบุตรได้พิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะนิพพานในห้องที่ท่านเกิด ปรากฎว่านางสารีพราหมณีผู้เป็นมารดา ไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามีความเสียใจที่พระสารีบุตรและน้องๆ พากันออกบวชในพระพุทธศาสนา พระสารีบุตรพยายามชักจูงมารดาให้มานับถือพระพุทธศาสนาหลายครั้งแล้วแต่ไม่เป็นผล จึงดำริจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้าย
พระสารีบุตรได้กราบทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อไปนิพานที่บ้านเกิด แล้วออกเดินทางกับพระจุนทะผู้เป็นน้องกับพระที่เป็นบริวาร 500 องค์ เดินทางงไปถึงหมู่บ้านนาลันทะ ซึ่งเป็นบ้านเกิด นางสารีพราหมณีผู้เป็นมารดาได้จัดให้พระสารีบุตรพักในห้องที่เกิด และจัดเสนาสนะสำหรับเป็นที่อยู่ของภิกษุ 500 องค์ ที่เป็นบริวาร ในคืนวันนั้น ท้าวจาตุมหาราชทั้งสี่องค์ มีท้าวเวสสุวัณ เป็นต้น ได้มาถวายนมัสการพระสารีบุตรซึ่งกำลังนอนอาพาธอยู่ เมื่อท้าวจาตุมหาราชกลับไปแล้ว ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ได้มาถวายนมัสการ เมื่อท้าวสักกเทวราชกลับไปแล้ว ท้าวสหัมบดีมหาพราหมณ์ก็ได้มาถวายนมัสการ มีรัศมีเปล่งปลั่งดังกองเพลิง ทำให้สว่างไสวไปทั้งห้อง เมื่อท้าวมหาพรหมกลับไปแล้ว นางสารีพรหมณีจึงได้ถามพระจุนทะเถระว่า ผู้ใดที่เข้ามาหาพี่ชายของท่าน พระจุนทะเถระจึงบอกมารดาว่า ท้าวจาตุมหาราช ท้าวสักกเทวราช และท้าวมหาพรหมได้มาถวายนมัสการพระสารีบุตร
นางสารีพราหมณีได้ฟังดังนั้น ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสารีบุตรและพระพุทธเจ้า คิดว่าพระลูชายของเรายังเป็นใหญ่ว่าท้าวจาตุมหาราช ท้าวสักกเทวราช และท้าวมหาพรหม พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นครูของพระลูกชายของเราจะต้องมีอิทธิศักดานุภาพยิ่งใหญ่ พระสารีบุตรได้รู้ว่า บัดนี้มารดาได้เกิดความปีติโสมนัสและศรัทธาในพระพุทธเจ้าแล้ว ถึงเวลาที่จะเทศนาทดแทนพระคุณของมารดาและโปรดมารดาให้เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงได้เทศนาสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อจบเทศนาแล้ว นางสารีพราหมณีก็ได้พระโสดาปัตติผล
รุ่งเช้าวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ได้นิพพานในห้องที่ท่านเกิดก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 6 เดือน พระจุนทะเถระได้ทำฌาปนกิจสรีระพระสารีบุตร เก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่พระเชตวัน เมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระสารีบุตรไว้ ณ ที่นั่น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นเลิศในความกตัญญูกตเวที และตรัสว่า ลูกคนใดที่ทำให้พ่อแม่ตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ลูกคนนั้นได้ตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ด้วยความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่ง