พระมหากัสสปเถระ

ผู้เป็นเอตทัคคะด้านทรงธุดงค์มาก
   พระมหากัสสปเถระ ชื่อเดิมว่า ปิปผลิ เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ แต่มักเรียกตามโคตรว่า กัสสปะ ท่านเกิดในหมู่บ้านพราหมณ์ ชื่อ มหาติตถะ เมืองราชคฤห์ ภายหลังมหาบุรุษอุบัติขึ้นในโลกเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ท่านเป็นลูกพราหมณ์มหาศาล บิดาและมารดาจึงต้องการผู้สืบเชื้อสายวงศ์ตระกูล ได้จัดการให้แต่งงานกับหญิงสาวธิดาพราหณ์มหาศาลชื่อ ภัททกาปิลานี เมื่ออายุได้ 20 ปี นางภัททกาปิลานีมีอายุได้ 16 ปี แต่เพราะทั้งคู่จุติมาจากพรหมโลกและบำเพ็ญเนกขัมมบารมีมามาก จึงไม่ยินดีในเรื่องกามรมณ์ งดเว้นจากเมถุนวิรัติ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ด้วยกัน จึงได้เห็นโทษของการครองเรือนว่า ต้องคอยเป็นผู้รับบาปจากการกระทำของผู้อื่น ในที่สุดทั้งสองได้ตัดสินใจออกบวช โดยยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่ญาติและบริวาร พวกเขาได้ไปซื้อผ้ากาสวพัสตร์และบาตรดินจากตลาด ต่างฝ่ายต่างปลงผมให้แก่กันเสร็จแล้ว ครองผ้ากาสาวพัสตร์สะพายบาตรลงจากปราสาทไปอย่างไม่มีความอาลัย
   เมื่อปิปผลิและภัททกาปิลานีเดินทางไปด้วยกันได้ระยะหนึ่งแล้วปรึกษากันว่า การปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ผู้พบเห็นติเตียนได้ เป็นการไม่สมควร จึงได้แยกทางกัน นางภัททกาปิลานีไปบวชเป็นภิกษุณี ต่อมาได้สำเร็จพระอรหันตผล
   พระบรมศาสดาได้เสด็จไปประทับนั่งที่โคนต้นพหุปุตตนิโครธระหว่างเมืองราคฤห์กับเมืองนาลันทา เพื่อรอรับการมาของปิปผลิมาณพ เมื่อปปิผลิมาณพเห็นพระพุทธองค์แล้ว คิดว่า ท่านผู้นี้จักเป็นศาสดาของเรา จึงน้อมตัวลงเดินเข้าไปหาไหว้ 3 ครั้ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก พระบรมศาสดาตรัสว่า “กัสสปะ ถ้าเธอพึงทำความเคารพนับถือนี้แก่แผ่นดิน แผ่นดินนั้นก็ไม่สามารถรองรับได้ ความเคารพนับถืออันเธอผู้รู้ความที่ตถาคตเป็นผู้มีคุณมากอย่างนี้กระทำแล้ว ย่อมไม่ทำแม้ขนของเราไหวได้ เธอจงนั่งลงเถิดกัสสปะ ตถาคตจะให้ทรัพย์มรดกแก่เธอ”
พระบรมศาสดาจึงได้ทรงประทานโอวาท 3 ข้อ เป็นการอุปสมบทให้ท่านว่า ดูก่อนกัสสปะ
1. เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงใจในภิกษุทั้งที่เป็นเถระ ปานกลาง และบวชใหม่
2. ธรรมใดเป็นกุศล เราจักเงี่ยโสตรับฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความของธรรมนั้น
3. เราจักไม่ทิ้งกายคตาสติ คือพิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์
   วิธีบวชอย่างนี้เรียกว่า โอวาทปฏิคคณูปสัมปทา แปลว่า การบวชด้วยการรับโอวาท ครั้นบวชเสร็จแล้ว พระบรมศาสดาให้เป็นปัจฉาสมณะ
   งานประกาศพระศาสนาที่สำคัญที่สุดที่สุดของพระมหากัสสปเถระ คือ เป็นประธานการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านได้ปรารภถ้อยคำของสุภัททวุฑฒบรรพชิตกล่าวกับหมู่ภิกษุด้วยกันว่า "หยุดเถิด หยุดเถิด ท่านอย่าร่ำไรไปเลย พระสมณะ นั้นพ้น (ปรินิพพาน) แล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ ไม่ต้อง เกรงบัญชาใคร" พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น คิดจะทำนิคคหกรรม (ทำโทษ) แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน และดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ จึงควรจะทำการสังคายนาและจะชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้ จากนั้นท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ใช้เวลา 7 เดือน พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นผู้อุปถัมภ์
   การปฐมสังคายนาครั้งนี้ จึงมีความสำคัญต่อการรักษาคำสอนของพระบรมศาสดาให้ดำรงมั่นคงมาจวบถึงทุกวันนี้ เมื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ได้จำพรรษาอยู่ที่เวฬุวนาราม มีอายุประมาณ 120 ปี จึงนิพพาน ณ ระหว่างกลางกุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์