พระนันทเถระ

(พระพุทธอนุชา) ผู้เป็นเอตทัคคะในทางผู้คุ้มครองทวารอินทรีย์

   พระนันทเถระ พระนามเดิมว่า นันทะ เป็นพระนามที่พระประยูรญาติทรงขนานให้เพราะความดีใจในวันที่ประสูตร พระบิดาทรงพระนามว่าสุทโธทนะ พระมารดาทรงพระนามว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมี ประสูติในพระราชวังแห่งกบิลพัสดุ์นคร
   นันทกุมาร เป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำ รูปร่างสง่างามสูงใหญ่ คล้ายพระมหาบุรุษ พอเจริญวัย พระราชบิดาได้จัดพิธีอาวาหมงคลกับนางชนบทกัลยานีที่พระราชนิเวศน์อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำอาราธนาของพระกาฬุทายีเถระ
   วันแรกทรงกระทำฝนโบกขรพรรษ (ฝนเหมือนน้ำตกบนใบบัว ไม่เปียกใคร) ให้เป็นอัตถุปบัตติเหตุ คือต้นเรื่องที่จะเทศนาเวสสันดรชาดก
   วันที่สอง ทรงโปรดพระชนกให้เป็นโสดาบันมั่นคงในพระศาสนา แล้วได้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ ทรงเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีให้เป็นพระโสดาบัน และเลื่อนชั้นพระบิดาขึ้นเป็นสกทาคามีด้วย พระอนุศาสนีโวหารว่า “บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมแบบทุจริต เพราะผู้ประพฤติธรรมอยู่เสมอ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า”
   ในวันที่สาม ทรงเสด็จยังพระราชนิเวศน์เพื่อบิณฑบาตในวโรกาสอาวาหมงคลของนันทกุมาร ให้เธอรับบาตร ตรัสมงคลแก่เขาจบแล้วไม่รับเอาบาตรกลับมา เสด็จมุ่งหน้าไปยังวิหาร ให้นันทกุมารถือบาตรตามไปด้วยจิตใจร้อนรน เพราะคิดถึงคนที่ตนรัก พอถึงนิโครธารามได้ตรัสถามว่า จะบวชหรือนันทะ พระกุมารไม่อาจปฏิเสธเพราะเหตุแห่งความเคารพและเกรงใจในพระบรมศาสดา พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะบวช พระบรมศาสดารับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงบวชให้นันทะเถิด”
   จึงสันนิษฐานได้ว่า พระนันทเถระบวชด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา เพราะท่านบวชด้วยความจำใจ ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา จึงไม่ปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ ทุกคืนและวันมีแต่ความเบื่อหน่ายทุรนทุรายเหมือนสัตว์ป่าถูกกรงขัง
   พระนันทะเถระได้รับความทุกข์ทรมานในด้านจิตใจ เพราะความคิดถึงนางชนบทกัลยานี และได้รับความอับอายที่ถูกเพื่อนพรหมจารีล้อว่า ประพฤติพรหมจรรย์เพราะอยากได้นางอัปสร จึงคิดว่า ที่เราต้องประสบกับเรื่องแปลกประหลาดเช่นนี้ ก็เพราะเราไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นเอง ดังนี้แล้ว เกิดความอุตสาหะมีหิริและโอตตัปปะเป็นกำลัง ตั้งความสำรวมอินทรีย์อย่างสูงสุด ทำลายความรู้สึกนั้น บำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุอรหันตผล หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เป็นพระขีณาสพ หลุดจากอาสวกิเลสทั้งปวง 
   ปฏิปทาของพระนันทเถระ ยังเป็นเหตุให้พระบรมศาสดาทรงเปล่งอุทานว่า “เปือกตมคือกามใคร ข้ามได้ หนามคือกามผู้ใดทำลายแล้ว ผู้นั้นสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวทั้งในความสุขและความทุกข์”