พระลับเป็น "พระพุทธรูปปางมารวิชัย" หล่อด้วยสัมฤทธิ์ทั้งองค์และทั้งฐาน ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑ นิ้ว สูง ๒๙ นิ้ว ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฎกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรเรียว เหลือบตาลงต่ำ พระนาสิกสันปลายแหลม พระโอษฐ์แย้ม ขนาดพระเกษาเหล็กแหลม พระเกตุมาลาใหญ่ รัศมีเป็นเปลว ตั้งอยู่บนฐานกลีบบัว ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ฐานปัทม์ยกทรงสูงสี่เหลี่ยมบัวคว่ำหงาย และแนวลูกแก้วอกไก่งอนขึ้นทางด้านบน
พระลับจัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปลาว "สกุลช่างเวียงจันทน์" คล้ายพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ระเบียงหอพระแก้ว กรุงเวียงจันทน์ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๔
กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์ ภายหลังจากที่พระยาสุริยวงศาสิ้นพระชนม์ กรุงเวียงจันทน์เกิดการระส่ำระสายแย่งชิงอำนาจราชสมบัติกัน ฝ่ายยึดอำนาจได้ก็ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามให้หมดสิ้นไป กลุ่มพระยาแสน (พญาเมืองจันทน์) ยึดครองเวียงจันทน์ได้ "เจ้าศรีวิชัย" อนุชาของพระสุริยวงศา ไม่สามารถขึ้นครองราชย์ได้ จึงพร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์หลบหนีภัยไปพึ่งบารมีอยู่กับ "เจ้าราชครูโพนสะเม็ก" หรือ "ญาคูขี้หอม" ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ของกรุงเวียงจันทน์ ในสมัยนั้นเทียบเท่ากับสมเด็จพระสังฆราช มีคนเคารพนับถือสักการะมากที่สุด อยู่ที่วัด "โพนสะเม็ก" ใกล้กรุงเวียงจันทน์ ในการหลบหนีครั้งนี้ เจ้าศรีวิชัยได้นำบุตรไปด้วย ๒ คน คือ
๑. เจ้าแก้วมงคล ได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุ เรียนพระอรรถธรรมกัมมัฎฐานจนแตกฉานแล้วสึกออกมา จนคนเรียกว่า "อาจารย์แก้ว" หรือ "แก้วบูโฮม"
๒. เจ้าจันทร์สุริยวงศ์ พระยาแสนเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ ได้คิดที่จะกำจัดเชื้อพระวงศ์ของพระสุริยวงศาที่หนีกันมาพึ่งบารมีของเจ้าราชครูโพนสะเม็กอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งเจ้าราชครูฯ ซึ่งมีผู้ให้ความเคารพนับถือมากด้วย และเนื่องจากโพนสะเม็กและกรุงเวียงจันทน์อยู่ใกล้กันมาก เจ้าราชครูโพนสะเม็กเกรงว่าเชื้อพระวงศ์ที่อพยพมาพึ่งบารมีจะได้รับอันตราย จึงวางแผนการอพยพออกจากรุงเวียงจันทน์ไปทางใต้เพื่อหาที่อยู่ใหม่
พ.ศ. ๒๒๓๒ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ได้ขออนุญาตพระยาเมืองแสนเดินทางไปบูรณปฏิสังขรณ์ "พระธาตุพนม" ซึ่งชำรุดมาก ในการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้จะได้นำชาวเวียงจันทน์และช่าง จำนวน ๓,๐๐๐ คน ร่วมเดินทางไปด้วย เมื่อได้รับอนุญาตก็พากันอพยพเดินทางล่องน้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนโขง ในการอพยพคราวนี้เชื้อพระวงศ์ก็ได้หลบหนีออกมาด้วย ครั้นเดินทางมาถึงพระธาตุพนมก็เริ่มลงมือบูรณะพระธาตุพนมในปี พ.ศ.๒๒๓๓
นการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมคราวนี้นั้น เจ้าราชครูโพนสะเม็กได้บูรณะตั้งแต่ขั้นที่ ๒ ขึ้นไปจนสุดยอดพระธาตุ เล่ากันว่า เจ้าราชครูโพนสะเม็กได้ไปขุดเอาโลหะชนิดหนึ่งคล้ายตะกั่วหรือเงิน ซึ่งไทยล้านช้างเรียกเหล็กเปียก ไทยใต้เรียกเหล็กไหล มาเป็นโลหะหล่อเป็นโบกสวมลงในปูนที่ยอดพระธาตุ สถานที่ขุดนั้นอยู่ที่ภูเหล็กใกล้บ้านดอนข้าวหลาม ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม อยู่ทางใต้ของพระธาตุพนม ประมาณ ๘ กม. ปัจจุบันยังมีหลุมและรอยขุดอยู่ ภูนั้นเป็นภูเขาศิลาแลงเตี้ยเป็นเนินสูงจากทุ่งนา
พ.ศ.๒๒๓๖ หลังจากการบูรณะพระธาตุพนมคราวนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าราชครูโพนสะเม็กได้หล่อพระพุทธรูปใหญ่ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑.๘๐ เมตร เป็นประธานอยู่พระวิหารหอแก้วปัจจุบัน และนอกจากนั้นก็ได้นำเอาทองแดง เศษปูน และวัสดุ ที่เหลือจากการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม มาหล่อพระพุทธรูปหลายองค์ มอบให้แก่ศิษยานุศิษย์ เพื่อจะได้นำไปสัการะเป็นสิริมงคลในโอกาสที่จะไปสร้างเมืองทางใต้ในโอกาสต่อไป ส่วนที่เหลือได้บรรจุไว้ที่ธาตุพนม (ต่อมา พ.ศ.๒๔๙๗ เจ้าคุณพระเทพรัตนโมลีฯ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ได้ซ่อมแซมพระวิหารหอแก้วก่อนจะปูกระเบื้องลายซีเมนต์ ก็ได้สั่งให้ช่างขุดพื้นวิหารตรงหน้าประธาน ได้พบกรุพระจำนวนมาก มีพระทองคำบุ ๒๕๐ องค์ พระเงินและพระเล็กๆ เป็นจำนวนมาก แต่มิได้เอาขึ้นมา เอาแต่องค์พระทองคำ ๑ องค์ หนักประมาณ ๔ กิโลกรัมครึ่ง พระนาค ๑ องค์ พระทองคำบุ ๓ องค์ พระหินดำ ๑ องค์ และพระทองสัมฤทธิ์ ๑ องค์ นอกนั้นอยู่ในกรุทั้งหมด
ข้อสันนิษฐาน "พระลับ" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่น คาดว่าจะสร้างโดยท่านราชครูโพนสะเม็กในคราวนี้ แล้วมอบให้แก่เชื่อพระวงศ์เพื่อนำไปให้ลูกให้หลานไปเป็นสิริมงคลในการสร้างบ้านสร้างเมืองในโอกาสต่อไป ส่วนชื่อนั้นคงจะไม่มีใครจดจำได้จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้
พ.ศ.๒๒๓๖ หลังจากที่ เจ้าราชครูโพนสะเม็ก บูรณะพระธาตุพนมเสร็จแล้วก็ได้แบ่งครอบครัวจำนวนหนึ่งให้อยู่อุปัฎฐากพระธาตุ นอกนั้นก็อพยพไปทางใต้ตามลำน้ำโขงเพื่อตั้งบ้านเรือนต่อไป กล่าวถึง นางเภา และ นางแพง(แม่ญิง) ผู้ครองเมืองกาลจำบากนาคบุรีศรี ได้ทราบข่าวว่าเจ้าราชครูโพนสะเม็กพำนักอยู่ที่เกาะแดง ท่านเป็นพระเถระที่มีคนเคารพสักการะมาก ไปที่ใดก็สร้างพระพุทธรูปวิหหาร เกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงพร้อมด้วยท้าวพญาแสน ไปนิมนต์อาราธนาท่านขอให้พำนักอยู่ที่เมืองเพื่อทำนุบำรุงศาสนาให้ถาวรรุ่งเรืองต่อไป ท่านราชครูโพนสะเม็กก็ไม่ขัดศรัทธา ครั้นอยู่ต่อมานางแพงพร้อมด้วยมุขมนตรีประชาราษฎรทั้งปวงมีความเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือเจ้าราชครูฯมากยิ่งขึ้น จึงพร้อมกันถวายทั้งพุทธจักรและอาณาจักรให้ราชครูฯ ปกครองทั้งสิ้น นครจำบากนาคบุรีศรีเป็นพระปกครอง
พ.ศ.๒๒๕๖ ท่านราชครูฯ ได้ใช้วิธีปกครองโดยทางธรรมแต่ไม่สำเร็จเรียบร้อย การชำระความตามอาญาแผ่นดินก็จะผิดวินัยพระ เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ซึ่งเป็นอนุชาของพระเจ้าองค์หล่อ หรือ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ (อพยพหลบหนีเมื่อคราวมาบูรณะพระธาตุพนม) เป็นเชื้อกษัตริย์กรุงเวียงจันทน์โดยแท้จริง จึงได้เชิญมาเป็นประมุขฝ่ายอาณาจักร ถวายนามว่า "เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร" และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่จาก กาลจำบากนาคบุรี เป็น "นครจำปาศักดิ์" แยกออกจากอาณาเขตของกรุงเวียงจันทน์
เมื่อ "เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร"ได้ปกครองนครจำปาศักดิ์แล้ว ก็มอบอำนาจให้เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กมีอำนาจฝ่ายพุทธจักรปกครองสงฆ์ที่นครจำปาศักดิ์ จนท่านราชครูหลวงฯ อายุได้ ๙๐ ปี ก็มรณภาพโดยโรคชรา (พ.ศ.๒๒๖๓)
เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ได้แต่งตั้งให้ลูกหลานสายโลหิตพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๑ ไปสร้างเมืองเพื่อขยายอาณาเขตให้กว้างยิ่งขึ้นหลายเมือง แต่จะขอกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ "พระลับ" และเมืองขอนแก่นเท่านั้น
เจ้าแก้วมงคล หรือ อาจารย์แก้ว พร้อมด้วยลูกหลานของท่านที่อพยพหนีติดตามมาจากนครเวียงจันทน์ ไปปกครอง "เมืองท่ง" หรือ "เมืองศรีภูมิ" เดิมเป็นที่ร้างให้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ พ.ศ.๒๒๕๖ เจ้าแก้วมงคลพร้อมด้วยลูกหลาน ๕๐๐ ครอบครัว จึงอพยพขนทรัพย์สมบัติ รวมทั้งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าราชครูโพนสะเม็กสร้างเมืองคราวบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมรวมไปด้วย สร้างเมืองเสร็จ พ.ศ.๒๒๕๗ ปัจจุบันคือตำบลเมืองท่ง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าแก้วมงคลมีบุตรกับภรรยาเก่า ๑ คน ชื่อ เจ้าหน่อคำ ให้ไปปกครองเมืองน่าน และกับภรรยาใหม่ ๒ คน คือ ท้าวมือ หรือเจ้ามืด กับเจ้าทน เจ้าแก้วมงคลเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๒๖๘
"ท้าวมืด" หรือ "เจ้ามืด" บุตรของเจ้าแก้วมงคลได้เป็นเจ้าเมืองต่อมา ท้าวมืดมีบุตรชาย ๓ คน คือ
๑. ท้าวเซียง เป็น เมืองแสน คุมกองทหารทั้งหมด
๒. ท้าวสูน เป็น เมืองจัน ปกครองฝ่ายพลเรือน
๓. ท้าวสัก เป็น "เพี้ยเมืองแพน" คุมทหารรักษาเขตแดนอยู่ชายฝั่ง "ชีโหล่น" หรือ "ซีล้น"