ที่ตั้ง

บ้านสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ห่างจากเมืองขอนแก่น 20 กม. บนเส้นทางถนนมะลิวัลย์ ขอนแก่น-ชุมแพ ถึงสี่แยกบ้านทุ่ม กม.ที่ 14 เลี้ยวขวา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2408

สภาพทั่วไป

วัดไชยศรี เป็นวัดเก่าแก่มีโบสถ์ (ชาวอีสานเรียกสิม) ที่เก่าแก่มาก อายุกว่าร้อยปีเศษ โดยสิมนี้เดิมหลังคามุงด้วยแผ่นไม้ (เรียกแป้นเกล็ด ทำด้วยไม้เป็นแผ่น ๆ คล้ายกระเบื้องในปัจจุบัน) และมีเอกลักษณ์ คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรม อีสานดั้งเดิม แต่พอถึงปี พ.ศ. 2525 หลังคาได้ทรุดโทรมมาก หน้าฝนน้ำฝนรั่วลงภายในโบสถ์ ชาวบ้านจึงทำการรื้อและทำหลังคาใหม่ ด้วยความเข้าใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นตน จึงทำหลังคา เป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นมาก ส่วนฝาผนัง ทั้งด้านนอกและด้านใน ยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง (อีสานเรียก ฮูปแต้ม) ยังเห็นอย่าง เด่นชัดมาก แม้จะผ่านมากกว่าร้อยปีแล้วก็ตามที

ประวัติความเป็นมา

วัดไชยศรี มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 8 ไร่เศษ ตามหลักฐานทราบว่าตั้งวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2408 ส่วนโบสถ์หรือสิมนี้ ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่คงสร้างประมาณ ปีพ.ศ. 2443 ได้รับ วิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยมีหลวงปู่อ่อนสา เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ เป็นผู้ออกแบบและพาญาติโยมสร้างขึ้น สำหรับลักษณะของโบสถ์นี้ ฐานส่วนล่างและผนังเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน ช่วงบนเดิมเป็นแบบไม้ทั้งหมด รวมทั้งหลังคาด้วย บานประตูและหน้าต่างแกะสลัก ส่วนภาพฝาผนังเป็นฝีมือช่างเขียนภาพพื้นบ้านชื่อ นายทอง ทิพย์ชา เป็นคนชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยการเขียนภาพนี้ เขียนตามที่หลวงปู่อ่อนสา ท่านกำหนด ให้ผนังด้านในส่วนมาก เป็นภาพอดีตพุทธะมหาเวสสันดร สังข์สินไชย ภาพเทพและภาพสัตว์ต่าง ๆ ผนังด้านนอกเป็นภาพนรก 8 ขุม (หลุม) และวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย ลักษณะเด่นคือ เป็นการเขียนแบบช่างพื้นบ้านและเขียนด้วยสีฝุ่นซึ่งหามาจากธรรมชาติ

ผู้แต้มฮูปชื่อ

นายช่างทอง ทิพย์ชา มาจากอำเภอบรบือ จ.มหาสารคาม และคณะช่างแต้มอีกหลายคน เช่น ช่างเคน นามตะ

จุดเด่นของสิมหรือโบสถ์หลังนี้คือ

ความโดดเด่นของฮูปแต้มสิมวัดไชยศรีอยู่ที่การเขียนภาพเต็มแน่นไว้เว้นแม้แต่ซอกมุมต่าง ๆ และภาพบุคคล คือภาพตัวพระหรือกษัตริย์เขียนขนาดเล็ก ภาพยักษ์หรือภาพเขียนขนาดใหญ่ ซึ่งแปลกไปจากฮูปแต้มแห่งอื่น ๆ ตัวภาพแสดงท่าทางเคลื่อนไหวโลดโผน บรรจุภาพลงในส่วนต่าง ๆ ของอาคารได้อย่างเหมาะสมและมีชีวิติชีวาอย่างยิ่ง

เป็นสิมอีสานประเภทสิมยก เป็นสิมทึบขนาดเล็ก บรรจุพระได้ประมาณ 21 รูป มีประตูเข้าทางเดียว มีเองขันธ์ ยกพื้นสูง หันหน้าไปด้านทิศตะวันออก เดิมหลังคามุงไม้เป็นเกล็ด ต่อมาได้บูรณะพระครั้งสุดท้ายเป็นกระเบื้องเคลือบ ผนังมีความหนา เพราะโครงสร้างก่ออิฐไม่มีเหล็กเสริมข้างใน เพื่อความคงทน อีกทั้งทำให้เย็นสบายเมื่อเข้าไปอยู่ข้างใน

รูปทรงที่เห็นครั้งแรกจะรู้สึกประทับใจในทันที เพราะมีลักษณะมวลทึบ หนักแน่นบึกบึนมีเอกภาพในทรวดทรง ดูเรียบง่าย แต่ทว่า สมบูรณ์ในตัวเอง บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและอุปนิสัยของผู้คนในอดีตของท้องถิ่นได้ชัดเจนที่สุด คือมีชีวิตเรียบง่าย อดทนต่อสู้บากบั่น หนักแน่นมั่นคง มีสัจจะและสมถะในการครองชีวิต นอกจากนี้ยังมีสุนทรีรสที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้รูปทรงของสถาปัตยกรรมอันได้กลั่นกรองแล้ว จนกลายเป็นปฏิมากรรมขึ้นมาชิ้นหนึ่งซึ่งสามารถทำให้ผู้เข้าถึงได้ชื่นชม(ออนซอน) เฉกเช่นศิลปะบริสุทธิ์ทั้งหลาย

ฮูปแต้ม

มีทั้งด้านนอกและด้านใน ด้านในเป็นเรื่องพุทธประวัติปฐมสมโภช ด้านนอกเป็นเรื่องสินไซ และมีฮูปแต้มนรกภูมิที่ผนังด้านซ้ายของประตูสิมก่อนเข้าไปข้างใน ซึ่งเป็นความนิยมสุดยอดแห่งศรัทธาของคนยุคนั้น ที่วัดไชยศรีฮูปแต้มเป็นแบบภาพเขียนช่างแต้มพื้นบ้านแท้ ๆ เป็นสื่อจากศิลปะแห่งความงามที่เป็นธรรมชาติเป็นความงามแห่งวัดไชยศรี

สีที่ใช้แต้มฮูป

ใช้สีฝุ่นโทนสีคราม เหลือง ขาว มองสบายตาเน้นสัดส่วนในการเขียนภาพที่เกี่ยวข้อง อารมณ์ของภาพดูสนุกสนานตัวละครออกท่าทางโลดโผน ภาพเลือนหายไปบ้างจากการบูรณะ

การซ่อมแซม

ปี พ.ศ. 2525 ซ่อมหลังคาใหม่โดยทางวัดและชาวบ้านร่วมกันบูรณะ ปีพ.ศ. 2535 กรมศิลปากรได้จัดงบประมาณซ่อมแซม 400,000.00 บาท เพื่อต่อเติมปีกด้านข้างของโบสถ์ ทั้งสองด้าน เพื่อป้องกันภาพจิตรกรรมฝาผนังจากแดดและฝนการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสิมวัดไชยศรี(อุโบสถ) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 127 ง วันที่ 21 ธันวาคม 2544

รูปแบบสถาปัตยกรรม

รูปแบบดั้งเดิม คือ สิมทึบพื้นบ้านอีสาน ฐานสูงมีมุขหน้า การก่ออิฐใช้กาวหนังสัตว์ ยางผงและน้ำอ้อยเป็นตัวประสาน ก่อสร้างด้วยฝีมือช่างชาวบ้านร่วมกับรองเจ้าอาวาสมัยนั้น ฐานเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนเหลี่ยมลดหลั่นกัน 3 ชั้น ตลอดแนวความยาวทั้ง 4 ด้าน ทำเช่นนี้ 2 แถว ชั้นบนมีขนาดช่องเล็กกว่าแถวล่างยาวตลอดทั้ง 4 ด้าน เช่นเดียวกัน เป็นรูปแบบที่งามแปลกตาและมีมิติ รูปแบบเช่นนี้นิยมสร้างกันในเขตจังหวัดขอนก่นหลายแห่ง เช่น สิมวัดโพธิ์ศรี อำเภอเมือง สิมวัดศรีบุญเรือง อำเภอพล สิมวัดบึงแก้ง อำเภอชนบท สิมวัดสระทอง อำเภอมัญจาคีรี เป็นต้น บันไดทำเป็นรูปม้ายืนปูนปั้นมีเอกลักษณ์และสง่างามมาก มีทางเข้าด้านหน้าด้านเดียว ผนังมุขหน้าแต่ละด้านเจาะช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ตกแต่งยอกหน้าต่างยอดโค้งซ้อนเหลื่อมกัน 3 ชั้น ด้านล่างถัดลงมาเจาะเป็นช่องแบบผนังด้านข้างมุข ปัจจุบันไม่เห็นแล้วถูกรื้อออกเพื่อขายทำบันไดนาค เหลือเฉพาะเสามุมหน้ามุขสองข้างเท่านั้น ผนังด้านหน้าสิมเจาะช่องประตู 1 ช่อง บานประตูเป็นฝีมือแกะสลักของพระอินทร์การอ่อนสา เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่ตรงล่างขนาบด้วยพระพุทธรูปยืนพนมมือ ที่มุมทั้ง 4 เป็นรูปเทพพนม กรอบประตูสลักลายประจำยามงดงามมาก เหนือบานประตูทำซุ้มปูนปั้นนูนต่ำแบบซุ้มบันแถลง รูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยปลายซุ้มสองข้างเป็นรูปเศียรนาคขนาบด้วยซุ้มแบบเดียวกันขนาดเล็กกว่า ปูนปั้นทาสีเหลืองและคราม

ผนังด้านข้างมีหน้าต่าง 3 ช่อง เป็นหน้าต่างจริง 1 ช่อง อยู่กึ่งกลางระหว่างหน้าต่างหลอก 2 ช่อง หน้าต่างจริงบานไม้ ตัวบานไม่มีลวดลาย กรองทำลวดลายรดน้ำประจำยาม ซุ้มหน้าต่างเหมือนซุ้มประตู คือ เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้นรูปนูนต่ำทาสี

หลังคาทรงจั่วมีปีกนกทั้งสี่ด้าน กำแพงแก้วทำเป็นรั้วไม้ระแนงโปร่งล้อมรอบสิม

รูปทรงปัจจุบัน เมื่อทางวัดได้ปรับเปลี่ยนรูปทรงหลังคาสิม รื้อส่วนอาคารเดิมออกหลายแห่ง ได้แก่ บันไดปูนปั้นรูปม้ายืน ผนังด้านหน้าของมุขหน้า รั้วไม้ เสารับปีกนกรอบสิมแล้วได้ก่อเสริมผนังทั้งสี่ด้านขึ้นสูง รองรับเครื่องบนหลังคาทรงจั่วแหลมสูง ไม่มีหลังคาปีกนกต่อขยาย บันไดกว้างจรดเสามุมมุขหน้า ราวบันไดรูปนาคปูนปั้นทำคันทวยปูนปั้นรองรับหลังคาสร้างกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเตี้ย ๆ ล้อมรอบมีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน มีเสารองรับโดยรอบ เลียนรูปแบบดั้งเดิม เพื่อปกป้องภาพจิตรกรรมฝาผนังจากผลกระทบของแดดและฝน

จิตรกรรมฝาผนัง

ฮูปแต้มเขียนทั้งผนังด้านนอกและด้านในเขียนเต็มพื้นที่ ช่างแต้ม คือ นายทอง ทิพย์ชาชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ใช้สีฝุ่นวรรณะเย็น คือ สีคราม สีเหลือง สีขาว สีเขียว สีน้ำตาล และสีดำ

ผนังด้านในเขียนภาพพระอดีตพระพุทธเจ้า เรื่องเวสสันดรชาดก สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) ภาพเทพ ภาพบุคคลและสัตว์ต่างๆ ผนังด้านนอกเขียนภาพนรกเจ็ดขุม เรื่องพระเวสสันดรชาดร สินไซ และภาพทหารยืนเฝ้าประตู

ช่างเขียนตัวภาพและเรื่องราวของภาพแน่นเต็มผนัง ส่วนมากลักษณะตัวภาพมีขนาดใหญ่มีแนวการแบ่งภาพตามช่องสี่เหลี่ยมของผังและใช้ลายเส้นและสีแบ่งภาพเป็นชั้น ๆ ด้วย

เทคนิคการสร้างภาพใช้สีขาวทารองพื้นก่อนร่างภาพ ร่างภาพด้วยดินสอแล้วจึงลงสีภาพที่ต้องการให้เด่นหรือตัวสำคัญ ช่างจะลงสีเข้ม ตัวภาพที่ไม่สำคัญหรือภาพประกอบก็ลงสีอ่อนแล้วใช้ลายเส้นตัดขอบตัวภาพ และเขียนลวดลายต่าง ๆ บางภาพไม่เขียนสีตัวภาพแต่ใช้วิธีตัดส้นรองพื้น และเขียนรายละเอียดคือ ใช้สีรองพื้นเป็นสีภาพบุคคล

ภาพบุคคลมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ไม่ได้สัดส่วน ศีรษะใหญ่ ลำตัวสั้น มักเขียนใบหน้าด้านข้าง ลักษณะท่าทางเป็นธรรมชาติมากกว่านาฏลักษณ์ ภาพสัตว์เขียนตัวค่อนข้างใหญ่ การเขียนภาพต้นไม้ ลงสีแล้วใช้ลายเส้นเขียนรายละเอียด ภาพนี้ใช้สายเส้นโค้งสีครามเขียนซ้อนเหลื่อมกันบนรองพื้นสีขาว ดูเป็นธรรมชาติและมีความเคลื่อนไหว มีอักษรไทยน้อยเขียนอธิบายภาพทั้งผนังด้านในและด้านนอก

สิมอีสาน

สิมอีสานที่นำมาเสนอนี้คือ สิมอีสานวัดไชยศรี นอกจากความเก่าแก่แล้วนั้นยังมีความงดงามของสถาปัตยกรรม ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จุดเด่นของสิมอีสานวัดไชยศรีคือการมีแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และบูรณาการองค์ความรู้ ทั้งศาสตร์และศิลปะ ให้เยาวชนในชุมชนสาวะถี ได้มีส่วนรักษาวิถีชีวิต วัด บ้าน โรงเรียน ชุมชน และ อนุรักษ์ พร้อมร่วมกันไปกับการพัฒนาชุมชนอย่างกลมกลืน

พระครูบุญชยากร ( วสันต์ มหาปุญโญ ) เจ้าอาวาสวัดไชยศรีองค์ปัจจุบัน และเจ้าคณะตำบลสาวะถีเขตหนึ่ง เป็นพระสงฆ์ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัดสาวะถี ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้นอกระบบ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ท่านได้ริเริ่มให้มีกิจกรรมในชุมชนหลาย ๆ ประการ เช่น การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรี การตั้งศูนย์บูรณาการ วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลสาวะถี โครงการวัดและหมู่บ้านสะอาด การสอนศีลธรรมในโรงเรียน การตั้งศูนย์เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น เป็นต้น

พระครูบุญชยากร ( วสันต์ มหาปุญโญ ) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลสาวะถี ได้ริเริ่ม การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรีขึ้นในปี พ . ศ .2547 โดยมีความมุ่งหมายสำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของชาวบ้านนับแต่อดีตสูญหายไปจากชุมชนและ สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นในวัดให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ หรือภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสู่ผู้คนในยุคปัจจุบันการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรีในระยะเริ่มต้นได้อาศัยการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านทั้งในการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ ร่วมมือกันก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรี และร่วมกันจัดทำทะเบียน จัดแสดง รวมถึงการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชน

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรีมีวัตถุสะสมประมาณ 550 ชิ้น และทุกวันเสาร์ และอาทิตย์จะมีการจัดกิจกรรมศึกษาประเพณีวัฒนธรรมของกลุ่มเยาวชน สิมวัดไชยศรี เดิมเป็นหลังคาเป็นแบบมีปีกยื่น แบบสถาปัตยกรรมอีสาน แต่ปัจจุบันหลังคาได้เปลี่ยนไป เนื่องจากเกิดการชำรุด ปี 2525 ชาวบ้านได้ทำการซ่อมแซมเนื่องจากเกิดชำรุดมากทั้งส่วนผนัง และหลังคา แต่ด้วยความไม่เข้าใจในเรื่องการบูรณะปฏิสังขรณ์วัตถุโบราณ และศิลปกรรม จึงได้เปลี่ยนหลังคาเป็นแบบทรงภาคกลาง และได้เสริมผนังบางส่วนให้สูงขึ้น เพื่อรับกับรูปทรงใหม่ของการก่อสร้าง ผลจากการซ่อมแซมนี้ทำให้น้ำปูนไหลมาทับภาพจิตรกรรมบางส่วนทั้งทางด้านนอกและด้านใน

สิม หรือพระอุโบสถ คำว่า สิม เป็นคำที่ชาวอีสานเรียกพระอุโบสถ ซึ่งมีคำว่าสีมาหรือเสมา ในการก่อสร้างสิมในสมัยโบราณมีทั้งการก่อสร้างสิมบกและสิมน้ำ ซึ่งมีหลายลักษณะ แต่โครงสร้างใหญ่ๆแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือสิมโปร่งที่ไม่กั้นฝาและสิมทึบมีผนังกั้นทั้งสี่ด้าน

วัดไชยศรี มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 8 ไร่เศษ ตามหลักฐานทราบว่าตั้งวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2408 ส่วนโบสถ์หรือสิมนี้ ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่คงสร้างประมาณ ปีพ.ศ.2443 ได้รับ วิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยมีหลวงปู่อ่อนสา เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ เป็นผู้ออกแบบและพาญาติโยมสร้างขึ้น

สำหรับลักษณะของโบสถ์นี้ ฐานส่วนล่างและผนังเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน ช่วงบนเดิมเป็นแบบไม้ทั้งหมด รวมทั้งหลังคาด้วย บานประตูและหน้าต่างแกะสลัก ส่วนภาพฝาผนังเป็นฝีมือช่างเขียนภาพพื้นบ้านชื่อนายทอง ทิพย์ชา เป็นคนชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยการเขียนภาพนี้ เขียนตามที่หลวงปู่อ่อนสา ท่านกำหนด ให้ผนังด้านในส่วนมาก เป็นภาพอดีตพุทธะมหาเวสสันดร สังข์สินไชย ภาพเทพและภาพสัตว์ต่าง ๆ ผนังด้านนอกเป็นภาพนรก 8 ขุม (หลุม) และวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง สังข์สินไชย ลักษณะเด่นคือ เป็นการเขียนแบบช่างพื้นบ้านและเขียนด้วยสีฝุ่นซึ่งหามาจากธรรมชาติ