ปางรับหญ้าคา

   

ลักษณะของพระพุทธรูป

     พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระกาย  พระหัตถ์ขวายื่นออกมาข้างหน้าเป็นกิริรับหญ้าคา  บางแบบทำเป็นแบบถือหญ้าคาก็มี

ประวัติความเป็นมา

     เมื่อพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์  ทรงเห็นถาดทองลอยทวนกระแสน้ำสมตามอธิษฐานจิตอันเป็นนิมิตดีเช่นนั้น  ก็เพิ่มความแน่พระทัยว่าจะได้ตรัสรู้เป็นสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยหาความสงสัยมิได้  ก็ทรงโสมนัสเสด็จมายังสาละวัน  ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราประทับพักพระกายที่ภายใต้ร่มไม้สาลพฤกษ์พอเวลาใกล้สายันต์ตะวันบ่าย  ก็เสด็จออกจากหมู่ไม้สาละที่พักกลางวัน  เสด็จดำเนินไปสู่ร่มไม้อสัตถโพธิพฤกษ์  พบโสตถิยพราหมณ์ในระหว่างทาง  โสตถิยพราหมณ์เลื่อมใสจึงน้อมกำหญ้าคาเข้าไปถวาย  ๘  กำ

     พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ครั้นทรงรับหญ้าคาจากนายโสตถิยพราหมณ์แล้ว  ก็เสด็จไปยังร่มไม้ อสัตถโพธิพฤกษ์ทางด้านปราจีนทิศ  แล้วทรงลาดหญ้าคาต่างบัลลังก์  ณ  ควงไม้อสัตถโพธิพฤกษ์ด้านปราจีนทิศแล้วเสด็จนั่งขัดสมาธิ  ผันพระปฤษฎางค์ทางลำต้นอสัตถโพธิพฤกษ์ทรงอธิษฐานในพระหฤทัยว่า  “ยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด  จักไม่เสด็จลุกขึ้นเพียงนั้น  พระมังสะและพระโลหิตจะแห้งเหือดไปเหลือแต่พระตจะ  พระนราหู  และพระอัฐิก็ตามทีเถิด”

    เรื่องพุทธศาสนิกชนชาวไทยเอาหญ้าคามาใช้ประกอบพิธีโดยใช้ฟ่อนหญ้าคาสำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์  เป็นธรรมเนียมสืบมาจนปัจจุบัน  ทรงพระถือว่าหญ้าคาเคยใช้เป็นพุทธบัลลังก์จึงเห็นเป็นสิริมงคล

    ขณะนั้น  ความอัศจรรย์ได้เกิดขึ้น  เมื่อพระมหาบรมโพธิสัตว์เจ้า  ทรงอธิษฐานแล้วบัลลังก์แก้วอันวิจิตรงามตระการก็บันดาลผุดขึ้นแทนบัลลังก์หญ้าคาเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์