ลักษณะพระพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลา พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระแสดงอาการห้าม
ประวัติความเป็นมา หลังจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเสวยวิมุตติสุขผ่านพ้นไปในเรือนแก้ว ๗ วันแล้ว พระองค์ได้เสด็จย้อนกลับไปประทับภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ อันตั้งอยู่ในด้านทิศบูรพาแห่งต้นพระศรีมหาโพธิอีก ๗ วันคือ ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือนเชฏฐ (เดือน ๗ ของไทย) อันเป็นสัปดาห์ที่ ๕ แห่งวันตรัสรู้ ขณะที่เสด็จประทับอยู่ ณ ต้นไม้อชปาลนิโครธนั้น มีธิดามาร ๓ คนชื่อ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา อาสาพญามารผู้เป็นบิดา เข้าไปเฝ้าทูลประเล้าประโลมด้วยเล่ห์กามารมณ์เนรมิตร่างเป็นสตรีสวยงามในวัยต่างๆ ตลอดจนกระทำอิตถีมายาโดยอาการลีลาฟ้อนรำขับร้องด้วยประการต่างๆ แต่พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงใฝ่พระทัยกลับขับไล่ธิดาพญาวัสวดีมารเหล่านั้นให้ออกไป ครั้นแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงพิจารณาถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วว่าเป็นคุณธรรมอันลึก ยากที่บุคคลผู้ยินดีในกามคุณจะตรัสรู้ตามได้ ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะตรัสสั่งสอนพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนั้น แต่ทรงอาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์จึงทรงพิจารณาอีกว่า จะมีผู้รู้ทั่วถึงธรรมนั้นบ้างหรือไม่ ก็ทรงทราบด้วยพระปัญญาว่า บุคคลผู้มีกิเลสน้อยเบาบางก็มี ผู้มีกิเลสหนาก็มี ผู้มีอินทรีย์คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญากล้าก็มี ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี ผู้มีอาการอันดีก็มี ผู้มีอาการชั่วก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่ายก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยยากก็มี เปรียบเหมือนดอกอุบล ๔ เหล่า คือ ดอกบัวที่ตั้งอยู่เหนือน้ำ คอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์ ก็จักบานในวันนี้ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้ ดอกบัวที่อยู่ภายในน้ำ ก็จักบาน ณ วันต่อๆไปส่วนดอกบัวที่อยู่ใต้เปือกตมนั้นอาจจะเป็นอาหารของปลาและเต่า ดอกบัวที่จะบานมีต่างชนิดกันฉันใด เวไนยสัตว์ก็มีต่างพวกกันฉันนั้น มูลเหตุที่พระพุทธองค์ทรงขับไล่ธิดาแห่งพญามารวัสวดี ให้หนีไปนั้นเอง ทำให้คิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเรียกว่า “ปางห้ามมาร”
|