ปางปฐมเทศนา

   

ปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร

ลักษณะพุทธรูป
      พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลม  เป็นกิริยาแสดงธรรม  พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประคอง  บางแห่งพระหัตถ์ซ้ายแบวางบนพระเพลาบ้าง  ยกขึ้นถือชายจีวรบ้าง  บางแห่งทำแบบนั่งห้อยพระบาทก็มี


ประวัติความเป็นมา
     ครั้นพระพุทธองค์ทรงอธิษฐานพระหฤทัย  น้อมไปเพื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์อย่างนี้แล้ว  ก็ทรงรำพึงพิจารณาหาบุคคลผู้สมควรที่จะรับพระธรรมเทศนา  ครั้งแรกทรงปรารถถึงอาฬารดาบส  กาลามโคตร  และอุททกดาบสลามบุตร  ซึ่งพระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาลัทธิสมัยอยู่ในสำนักของท่านอาจารย์ทั้งสองมา  ด้วยทรงเห็นว่าท่านทั้งสองเป็นผู้ฉลาดทั้งมีกิเลสเบาบาง  มีอุปนิสัยดี  สามารถจะรู้ธรรมได้ฉับพลัน  สมควรจะได้ธรรมพิเศษ  แต่แล้วก็ทรงทราบด้วยพระญาณของพระองค์ว่า  ท่านทั้งสองนั้นได้สิ้นชีพเสียก่อนแล้วเมื่อ ๗ วันมีความฉิบหายจากคุณอันใหญ่  ถ้าได้ฟังธรรมนี้แล้ว  คงรู้ได้พลันทีเดียว
ต่อจากนั้นมาจึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง  ๕  คือ  โกณฑัญญะ  วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  และอัสสชิ    ที่เคยอุปการะแก่พระองค์มา  โดยปฏิบัติบำรุงพระองค์เมื่อครั้งทรงลำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่  ครั้นพระองค์ทรงเลิกทุกกรกิริยา  ด้วยทรงเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้  หันมาเสวยพระกระยาหาร  ทรงปฏิบัติในทางใจตามทางสายกลางคือ  มัชฌิมาปฏิปทา  ปัญจวัคคีย์ทั้ง  ๕  ไม่เลื่อมใส เห็นว่าพรนะองค์คลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากแล้ว  คงไม่มีทางจะตรัสรู้ได้แน่  จึงได้ชวนกันทอดทิ้งพระองค์เสียและหนีไปอยู่  ณ  ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ดังนั้นพระองค์จึงทรงกำหนดเห็นว่า  ปัญจวัคคีย์มรอินทรีย์แก่กล้าสมควรจะได้รับธรรมพิเศษแล้ว  เราจะไปแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน
      ครั้งนั้น  เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริอย่างนั้นแล้ว  จึงทรงพระกรุณาเสด็จดำเนินออกจากต้นอชปาลนิโครธ  ไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสี  อันเป็นที่อยู่ของปัญจวัคคีย์ทั้ง  ๕  เสด็จถึงสถานที่นั้นในเวลาเย็นของวันขึ้น  ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ (เดือนอาสาฬหะ)
ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ พอได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล  จึงนัดหมายกันว่า  พระสมณโคดมนี้  มีความมักมากคลายความเพียร  เวียนมาเพื่อความมักมากเสียแล้ว  มาอยู่  ณ  บัดนี้  ในพวกเราผู้ใดผู้หนึ่งไม่พึงไหว้  ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับไม่พึงรับบาตรจีวร  ก็แต่ว่า  พึงตั้งอาสนะที่นั่งไว้เถิด  ถ้าพระโคดมปรารถนาก็จงนั่ง  ครั้นพระองค์เสด็จเข้ามาถึงแล้ว  ยังพูดกับพระองค์ด้วยโวหารที่ไม่เคารพ  คือพูดออกพระนามและใช้คำว่าอาวุโส  เพราะไม่เชื่อว่าพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  พระพุทธองค์ทรงห้ามเสียและทรงตรัสเตือนปัญจวัคคีย์  ให้หวนระลึกถึงความหลังเมื่อครั้งอยู่ปฏิบัติบำรุงพระองค์มาเป็นเวลานานว่า  ปัญจวัคคีย์  บัดนี้เราได้ตรัสรู้อมฤตธรรมโดยชอบเองแล้ว  ท่านทั้งหลายจงคอยฟังดังนี้พวกท่านเคยได้ยินวาจาที่เราตรัสบอกอย่างนี้บ้างหรือ
ปัญจวัคคีย์กล่าวคัดค้านลำเลิกเหตุปางหลังว่า “อาวุโสโคดม แม้ด้วยความประพฤติอย่างนั้น  ท่านยังไม่บรรลุธรรมพิเศษได้  บัดนี้ท่านหันมาปฏิบัติเพื่อความมักมากเสียแล้วเหตุไฉนท่านจะได้บรรลุธรรมพิเศษได้เล่า
      พระพุทธองค์ตรัสเตือนสติปัญจวัคคีย์ว่า  แม้วาจาอื่นใดอันไม่เป็นความจริงที่พระองค์เคยรับสั่งเล่น  ยังเคยได้ยินอยู่บ้างหรือ  ปัญจวัคคีย์ยังไม่ยอมเชื่อต่อพระองค์คงพูดคัดค้านโต้ตอบกันกับพระพุทธองค์อย่างนั้น ๒-๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสเตือนอีกว่า  “ท่านทั้งหลายจำอยู่ได้อีกหรือไม่ว่า วาจาเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อนแต่กาลนี้บ้างแล”  เมื่อปัญจวัคคีย์ได้ใคร่ครวญพิจารณาตามความจริง  ตามพระกระแสรับสั่งเตือน  จึงได้เห็นจริงตามพระวาจา  และปลงใจเชื่อว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่  เพราะพระวาจาเช่นนี้ไม่เคยมีเลย  จึงมีความสำคัญในอันจะฟังธรรมที่พระองค์ทรงแสดง  แล้วพร้อมกันถวายความเคารพ  คอยสดับพระโอวาทอยู่ตลอดเวลา
      ตามอรรถกถาว่า  ครั้นวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เพ็ญเดือน  ๘อันเป็นวันอาสาฬหปุรณมี  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ตรัสเตือนปัญจวัคคีย์ให้ตั้งใจฟังธรรมแล้ว  พระองค์ก็ทรงแสดง  “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” อันเป็น “ปฐมเทศนา”  โปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง  ๕  โดยประกาศความตรัสรู้ของพระองค์ว่า  “ภิกษุทั้งหลายที่สุด  ๒  อย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ  เป็นเหตุตั้งบ้านตั้งเรือนเป็นของคนมีกิเลสหนา  ไม่ใช่ของคนผู้เป็นอริยะคือผู้บริสุทธิ์  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  คือ  กามสุขัลลิกานุโยค  ได้แก่การประกอบตนให้พัวพันด้วยความสุขในกาม ๑ อัตตกิลมถานุโยคได้แก่การประกอบความทุกข์ยากให้เกิดแก่ผู้ประกอบ  ให้ได้รับความเหน็จเหนื่อยแก่ตนเปล่า  ไม่ทำผู้ประกอบให้เป็นอริยะ  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ ทั้งสองอย่างนี้  บรรพชิตไม่ควรเสพไม่ควรประกอบ  ไม่เป็นประโยชน์ไม่ใช่ทางตรัสรู้  ส่วนทางสายกลางคือ ข้อปฏิบัติอันเป็นมัชฌิมาปฏิปทาที่เราตรัสรู้แล้วนั้นเป็นไปเพื่อความสงบระงับ  เพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความรู้ดี  เพื่อนิพพาน  คือความสิ้นตัณหาเครื่องร้อยรัดไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้ง ๒  นี้  ทำดวงตาคือปรีชาญาณเป็นธรรมที่บรรพชิตควรดำเนินตาม  ควรเสพคือประกอบให้มีขึ้นในตนแท้  ด้วยเป็นทางทำให้ผู้ดำเนินตามให้ปำนพระอริยะ”
ทางสายกลางคือ  ข้อปฏิบัติอั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทาเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการ  ก็มรรคมีองค์ ๘  นั้นคือ อะไรบ้าง  มรรคมีองค์  ๘  นั้นคือ  สัมมาทิฏฐิ  ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปโป  ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา  วาจาชอบ ๑ สัมมากัมมันโต  การงานชอบ ๑ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ  ๑  สัมมาวายาโม  เพียรชอบ  ๑  สัมมาสติ  ระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ  ตั้งใจชอบ  ๑  มัชฌิมาปฏิปทานี้แล  เราได้ตรัสรู้แล้ว   ทำดวงตาคือปรีชาญาณให้เห็นแจ้งแทงตลอดเญยยธรรมทั้งปวง  เป็นไปเพื่อความสงบระงับ  เพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความรู้ดี  เพื่อพระนิพพาน  ภิกษุทั้งหลายข้อนี้เป็นของจริงของพระอริยบุคคล  อริยสัจจธรรม  ๔  ประการคือทุกขสัจ  อันได้แก่ ทุกข์  สมุทยสัจได้แก่เหตุให้เกิดทุกข์  นิโรธสัจ  ได้แก่ความดับทุกข์  และมัคคสัจ  ได้แก่ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  โดยเทศนาบรรหาร  จำแนกยถาภูตทัศนญาณด้วยอาการ  ๑๒  อย่างกล่าวคือ ในอริยสัจ  ๔  เหล่านี้ของเราอันมีรอบ ๓  มีอาการ  ๑๒  อย่างนี้  ยังไม่หมดจดเพียงใด  เรายังไม่อาจยืนยันตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ  ไม่มีใครสู้ในโลกเพียงนั้นต่อเมื่อใด  ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงแล้วอย่างไรในอริยสัจ ๔เหล่านี้ของเราหมดจดดีแล้ว  เมื่อนั้นเราอาจยืนยันตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ  ไม่มีใครสู้ในโลก  ก็แลปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดแก่เราว่า  “ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ ความเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว  บัดนี้ไม่มีความเกิดอีกต่อไป”
     เมื่อพระพุทธองค์ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่  ธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลีมลทิน  ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านโกณฑัญญะว่า  “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” ๑ พระพุทธองค์ทรงทราบว่า ท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว  จึงทรงเปล่งอุทานว่า “โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ”  พระอุทานว่าอัญญาสิๆ ซึ่งแปลว่า “ได้รู้แล้วๆ”  ดังนั้นคำว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” นี้จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะตั้งแต่กาลนั้นมา  และท่านอัญญาโกณฑัญญะ  ก็ได้เป็นสาวกชั้นพระอริยะบุคคลองค์แรกในพระพุทธศาสนา
    พระพุทธจริยา  ที่พระพุทธองค์ทรงพระมหากรุณาแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ครั้งนี้  อันเป็นการประกาศความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้โลกได้รู้แจ้งชัด  ด้วยพระปรีชาญาณอันหาผู้เสมอมิได้  พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสักขีพยานในการตรัสรู้ของพระองค์  เป็นนิมิตอันดีในการที่พระพุทธองค์จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองในโลกสืบไปข้อนี้เป็นเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางปฐมเทศนา หรือ ปางแสดงธรรมจักร”

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์