หรือ ปางแสดงโอวาทปาติโมกข์
ลักษณะพระพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิทรงยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นจีบพระองคุลีเหนือระหว่างพระถันทั้งสองข้าง คล้ายปางเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ เป็นกิริยาทรงประทานโอวาท คือ โอวาทปาติโมกข์
ประวัติความเป็นมา ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์พระนครหลวงแห่งมคธ เวลาบ่าย เสด็จประทับอยู่ท่ามกลางพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ที่พระเวฬุวันวิหาร ทรงอาศัยความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์หมู่ใหญ่อันประกอบด้วย องค์ ๔ ซึ่งเรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต คือ ๑.พระสาวกที่เข้าประชุมนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์อยู่จบพรหมจรรย์แล้วนับจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ๒.พระสาวกเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกษุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทที่พระพุทธองค์ประทานเอง ๓.พระสาวกเหล่านั้นไม่ได้นัดหมายต่างมาพร้อมกันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยพร้อมเพรียงกัน ๔.พระบรมศาสดาประทานพระบรมพุทโธวาทในวันมาฆบุรณมีดิถี พระจันทร์เพ็ญเสวยมาฆฤกษ์ การประชุมของพระสงฆ์ด้วยลักษณะ ๔ ประการเช่นนี้มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในพระพุทธศาสนา ครั้นพระพุทธเจ้าทรงเห็นการประชุมของสงฆ์หมู่ใหญ่ เห็นศุภนิมิตอันดีเช่นนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระสงฆ์ทั้งหลายโดยพระบาลีว่า ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา เป็นต้น ความว่า ความอดกั้นคือความอดทน เป็นธรรมเผาผลาญบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า พระนิพพานเป็นธรรมอันประเสริฐ ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต แม้ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ก็ไม่นับว่าเป็นสมณะ การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ๑ สามข้อนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อนึ่ง การไม่เข้ากล่าวร้าย ๑ การไม่เข้าไปทำร้าย ๑ การสำรวมในปาติโมกข์ ๑ การรู้ประมาณพอควรในการบริโภค ๑ การนั่งนอนในเสนาสนะอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ ทั้ง ๖ ประการนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ครั้นพระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ คือธรรมที่เป็นประทานของคำกล่าวสอนทั้งหลายแก่พระอริยสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ องค์ เพื่อถือเป็นแนวการสอนสำหรับพระสงฆ์สาวกที่จะรับปฏิบัติศาสนกิจ เผยแพร่พุทธศาสนาแล้ว ได้ทรงทำวิสุทธิอุโบสถร่วมกับพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์นั้น ดังนั้นการแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่สาวกครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งเดียวในพุทธศาสนา และพุทธจริยาตอนทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นี้เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางประทานโอวาท หรือ ปางแสดงโอวาทปาติโมกข์”
|