ปางประทับเรือ

   

ลักษณะพุทธรูป

     พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งประทับบนพระแท่น  ห้อยพระบาททั้งสองข้างวางอยู่บนดอกบัว  พระหัตถ์ทั้งสองคว่ำวางบนพระชานุทั้งสอง

 ประวัติความเป็นมา

     สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า  เสด็จประทับอยู่ในเวฬุวนาราม  อาศัยกรุงราชคฤห์มหานครเป็นที่โคจรภิกษาจารและประทานพระธรรมเทศนา  โปรดเวไนยสัตว์ผู้มีธุลีในจักษุน้อยให้เห็นแจ้งในอริยธรรม  ทรงประทานข้อปฏิบัติแต่เบื้องต่ำ  เบื้องกลาง และเบื้องสูง  ทรงแนะนำชักจูงผู้หลงดำเนินในทางผิดให้เกิดกุศลจิตกลับมาดำเนินในทางชอบ  ปฏิบัติตามระบอบแบบอริยบรรพ์  อันเป็นทางเข้าถึงสวรรค์และนิพพานเกียรติศัพท์ของสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้แผ่ไพศาลไปทั่วทุกทิศครอบงำกำลังของเหล่าเดียรถีย์มิจฉาจิตให้สิ้นแรง  ดังหิ่งห้อยต้องสิ้นแสงในยามพระอาทิตย์อุทัย  มหาชนพากันเลื่อมใสศรัทธาปสาทะ  น้อมจิตเข้าถึงพระไตรสรณะตลอดกาล  พร้อมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยไทยทานเป็นนิรันดร  พระพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองสถาพรร่มโพธิร่มไทร  ที่สมบูรณ์ด้วยดอกไม้ทุกก้านกิ่งให้ความร่มเย็นแก่ปวงสัตว์ทุกหมู่เล่าที่เข้าพึ่งพิงทุกทิวาราตรีกาล

        ในสมัยนั้น  พระนครไพศาลี  ซึ่งปรากฏเป็นราชธานีที่กว้างใหญ่เป็นที่เจริญด้วยวิทยาลัยเศรษฐกิจ  มากด้วยพ่อค้าพานิชย์พำนักอยู่  ทั้งแผ่นดินก็อุดมสมบูรณ์ได้ด้วยทรัพยากรควรแก่การเพาะปลูกทั้งไม้หมากรากลูก  ดอกและใบ  เจริญยิ่งกว่านครใดในแคว้นวัชชี  ดังนั้นชาวเมืองไพศาลีจึงมั่งคั่งด้วยทรัพย์สิน  เพียบพร้อมด้วยปราสาทราชศฤงคารอันงามวิจิตอักอำมาตย์ราชปุโรหิตและโยธาทหารประกอบด้วยสามัคคีธรรมมีความสามารถด้วยศิลปศาสตร์ราชการทุกถ้วนหน้า  เป็นที่นิยมทั้งพระราชอุทยานสถานพักผ่อนก็รื่นรมย์  และมีสระโบกขรณีเป็นที่น่ายินดีเจริญตาเจริญจิต    งามพร้อมด้วยพฤกษานานาพันธุ์อเนกประการ  ประชาชนก็มีความชื่นบานทุกเวลาทุกทิวาราตรี

         ครั้นต่อมาสมัยหนึ่ง  เมืองไพศาลีเกิดอาเพศ  ประชาชนทั้งหลายประสบอุบัติเหตุอย่างสาหัสด้วย ทุพภิกขภัยพิบัติเกิดบีฑาคือ  ข้าวกล้าในนาเสียหายแห้งตายเป็นส่วนมาก  ข้าวปลาหายากเพราะฝนแล้ง  ข้าวยากหมากแพงเป็นที่สุด  บรรดาเหล่ามนุษย์ก็ขัดสน  ยากจนเพราะเกียจคร้านการงานไม่นำพา  รักแต่การเที่ยวเตร่เฮฮาเป็นอาจิณ  การทำมาหากินไม่ใฝ่ฝัน  ใจใส่แต่การพนันในทางบาป  จิตละโลภมากในทางผิดในที่สุดก็สิ้นคิดเพราะขัดสน  ต้องทุกข์ทนต่อความหิว  หน้านิ่วตาลายนอนตายอยู่เกลื่อนกลาด  เป็นที่อเน็จอนาถอนิจจตา

         อนึ่งเล่า  เมื่อตายไปแล้วก็ไม่มีใครนำพาซากศพ  ทิ้งให้เน่าเหม็นกลิ่นตระหลบอยู่ริมทางดูเกลื่อนกลาด  ต่อแต่นั้นมนุษย์ปีศาจในป่าก็พากันหลั่งไหลเข้าพระนคร  กินศพมนุษย์ที่ม้วยมรณ์เป็นจำนวนมาก  ที่ต้องตายลงเพราะอดอยากหิวโหยโรยแรงลงดับจิต    ยังพวกที่ต้องสูญเสียชีวิตเพราะอหิวาตกโรค  เพราะบ้านเรือนโสโครกด้วยกลิ่นไอ  เนื่องจากของกินของใช้ ไม่สะอาด  เป็นบ่อเกิดเชื้อโรคร้ายกาจให้พลันตาย  อหิวาต์พาให้มนุษย์วอดวายเหลือประมาณยังปีศาจสันดานพาลที่แฝงอยู่พากันเข้าสิงสู่ร่างสำแดงฤทธิ์  ล้างผลาญชีวิตประชาชนให้วอดวายทุกวันวาน  รวมเป็นภัย  ๓  ประการ  อันน่าสะพรึงกลัวเพราะเป็นภัยร้ายแรงคือ

๑.      ทุพภิขภัย  เกิดจากข้าวยากหมากแพง  ฝนก็แล้งข้าวตาย

๒.    อมนุสสภัย  เกิดจากภูตผีปีศาจทั้งหลายเบียดเบียน

๓.     อหิวาตกภัย   เกิดจากอหิวาตกโรค  เพราะบ้านเมืองโสโครก  อาหารสกปรกเป็นสมุฏฐาน

ภัยเกิดพร้อมกัน  ๓  ประการไม่เคยมีปรากฏมาก่อนชาวเมืองไพศาลีจึงเคราะห์ร้ายมาก  ที่มีกำลังก็

พากันหนีจากไปสู่เมืองไกล

      ครั้งนั้น  ประชาชนทั้งหลายประชุมกันคิดว่า  ภัยทั้ง  ๓  ประการนี้ไม่เคยมีมาในปางก่อน  มามีขึ้น  อาจเป็นเพราะพระราชาแห่งนครไพศาลีประพฤติผิด  ทำการบริหารบ้านเมืองนอกจารีตราชประเพณีอันดีงาม  ไม่ตั้งอยู่ในราชธรรมอันดีอย่างกษัตริย์ทั้งหลาย  จึงเกิดอาเพศภัยร้ายทั้ง  ๓  ประการขึ้นแล้วก็ชักชวนกันไปยังพระราชนิเวศน์  สถานที่สถิตแห่งประมุขชาติราชบพิตร  พระเจ้ากรุงไพศาลี  กราบทูลว่าข้าแต่อธิบดินทร์ปิ่นแคว้นวัชชีมหาราช  บัดนี้  ภัยพิบัติอันร้ายกาจ  ๓  ประการเกิดขึ้นแล้วในพระนคร  ซึ่งแต่กาลก่อนไม่เคยมีนับได้   ๗  ชั่วพระราชาธิบดีที่เสวยเถลิงราชสมบัติมา  ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า  ภัยเห็นปานนี้ย่อมไม่เกิดขึ้นในราชการของพระราชาผู้บริหารประเทศผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม

      ลำดับนั้น  พระเจ้าไพศาลีโปรดให้มุขอำมาตย์ราชมนตรีประชุมชาวประชาชีที่ข้องใจสงสัยในราชกิจ  ยังท้องพระโรงหลวงรัตนวิจิตรในราชฐาน  ให้สำรวจตรวจดูงานการบริหารราชการแผ่นดินของกษัตริย์  ว่าสิ่งใดที่เราปฏิบัติไม่ชอบด้วยขัตติยราชประเพณี  อันเป็นเหตุให้เกิดภัยกาลี  ๓  ประการเมื่อมหาชนตรวจดูงานของพระมหากษัตริย์  ก็มิได้เห็นข้อปฏิบัติอันใดของพระองค์ที่บกพร่อง  แล้วบรรดาชาวประชาชีจึงปรึกษากันว่า  เราและท่านทั้งหลายจะพากันทำฉันใดภัยจึงจะสงบลงด้วยดี   ดังนั้นผู้ใดเสนอว่าพิธีกรรมเหล่านี้มีพลีกรรมการบวงสรวงเป็นต้น  จักเป็นมงคลระงับภัยพิบัติได้  เมื่อคนทั้งหลายพากันทำหมดทุกวิธี  ก็ไม่สามารถปัดเป่าภัยกาลีให้สงบลงได้

      กาลครั้งนั้น  มีหมู่ชนที่สนใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเสนอความเห็นขึ้นมาชักชวนให้น่าคิดว่า  บัดนี้  องคำสมเด็จพระธรรมสามีสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก  ทรงประทานธรรมวิโมกข์แก่ปวงสัตว์  ทรงพระปรีชาญาณสมบัติอันวิเศษสมบูรณ์ด้วยพระฤทธิ์พระเดชและอานุภาพนานาประการ  ถ้าได้กราบทูลอาราธนาให้เสด็จมาประทานธรรมในพระนครไพศาลีนี้เหล่าภัยพิบัติทั้งมวลมีก็คงจะสงบลงได้  คำเสนอเรื่องนี้เป็นที่พึงพอใจแก่คนเป็นอันมาก  จึงพากันถามว่าบัดนี้  พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเสด็จประทับอยู่  ณ  ที่ใด  ครั้นทราบแล้วก็พากันเข้าไปยังพระราชฐาน  กราบทูลให้พระเจ้ากรุงไพศาลีได้ทรงทราบ  และประทานโอกาสจัดราชปุโรหิตอำมาตย์นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าพิมพิสารยังราชคฤหมหานคร เพื่อขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จมาระงับความเดือดร้อนของชาวพระนครไพศาลี  ด้วยอานุภาพพระบารมีแต่ครั้งเดียวนี้เถิด

     ในกาลนั้นเป็นเวลาใกล้ฤดูเข้าพรรษา  พระบรมศาสดาทรงประทานปฏิญญาแด่พระเจ้าพิมพิสาร  เพื่อทรงอยู่จำพรรษากาล  ณ  พระเวฬุวัน

      อนึ่งเล่าในสมัยนั้น  เจ้าลิจฉวี  พระนามว่า  มหาลี  เป็นผู้มีความสนิทสนมกันเป็นอย่างดีกับพระเจ้าพิมพิสาร  จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านำเครื่องราชบรรณาการไปพร้อมด้วยบุตรปุโรหิต  เพื่อปฏิบัติราชกิจแห่งแคว้นมคธ  แล้วเจ้ามาหาลีก็รับสัญจรบทจากนครไพศาลีไปยังมคธรัฐ  เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารราชาธิปัตย์ยังราชคฤหนคร  กราบทูลวิงวอนขออัญเชิญพระบรมศาสดาครั้นได้รับพระราชบัญชาเป็นโอกาสให้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวัน  เจ้ามหาลีก็ขมีขมันพาคณะราชทูตไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระมหาวิหาร  ทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาจารย์ผู้ทรงพระมหากรุณา  เพื่อบำเพ็ญโลกัตถจริยาระงับความเดือดร้อน  ประทานความร่มเย็นแก่ชาวนครไพศาลี  ด้วยอานุภาพพระบารมีด้วยเถิด

     เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับคำของเจ้าลิจฉวี  พร้อมชาวไพศาลี  ทูลอาราธนา  จึงทรงใคร่ครวญดูแล้วก็ทรงทราบว่า  ถ้าตถาคตไปยังไพศาลีนครก็สามารถจะระงับความเดือดร้อนของประชาราษฏร์  ภัยทั้ง  ๓  ประการก็จะพินาศไม่ตั้งอยู่ไดด้วยอานุภาพพระรัตนตรัยในรัตนสูตรพุทธอาณา  จึงรับอาราธนาของคระเจ้าลิจฉวี

     ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอาราธนาของเจ้าลิจฉวี  จึงเสด็จไปเฝ้าพระมหามุนีแล้วกราบทูลถาม  ครั้นทรงทราบความว่าจักเสด็จเป็นแม่นมั่นจึงกราบทูลว่า  ถ้าเช่นนั้นขอให้พระองค์ทรงรอก่อนด้วยวิถีทางที่จะเสด็จไปยังไม่ราบเรียบ  จึงโปรดให้ปราบพื้นวิถีทางสถลมาร์ค  ถวายพระผู้มีพระภาคประมาณ  ๕ โยชน์  จากกรุงราชคฤห์  ถึงแม่น้ำคงคา  ให้สม่ำเสมอควรแก่การยาตราโดยสวัสดีทุกระยะวิถีทางหนึ่งโยชน์  ให้สร้างวิหารสำหรับพระศาสดาประทับพัก  พร้อมด้วยที่พำนักของพระสงฆ์ทั้งหลายที่ติดตามเสด็จ

      ครั้นทางสำเร็จเรียบร้อยดีแล้ว  พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาจารย์เจ้า  กราบทูลให้ทรงทราบว่า  บัดนี้  ควรแก่เวลาพระบรมศาสดาจะเสด็จเดินทางพร้อมด้วยพระสงฆ์  ๕๐๐  รูป  โปรดให้ประชาชนยกธงชัยและธงแผ่นผ้าพร้อมด้วยต้นกล้วย  ในที่สุดระยะทางโยชน์หนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งวิหาร  ก็โปรดให้กั้นเศวตฉัตรซ้อนถวายพระบรมศาสดาจารย์เจ้าและสังฆบริวาร  ทั้งจัดไทยทานถวายทุกระยะที่พำนักพักแรมราตรี  รวมเสด็จเดินทาง  ๕  วัน  พอดีก็เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำคงคา  เสด็จลงราชนาวาเรือพระที่นั่ง  ซึ่งโปรดให้จัดตั้งบัลลังก์ภายใต้พลับพลาหลังคาสี  จัดลาดอาสนะเป็นอย่างดีตลอดหมด  พระบรมสุคตเสด็จประทับบนพุทธอาสน์  พระสงฆ์ก็ลีลาสลงนั่งแวดล้อมเป็นบริวาร  พระเจ้าพิมพิสารผู้ครองนครราชคฤห์จึงโปรดให้แจ้งข่าวสารไปยังเจ้าลิจฉวี  ให้ชาวเมืองไพศาลีจัดแจงวิถีทรงต้อนรับพระบรมศาสดา  ซึ่งเสด็จมาโดยเรือพระที่นั่ง  กำหนดระยะทางที่จะถึงฝั่งนครไพศาลี  เป็นทางยาวโยชน์หนึ่งพอดีทางเสด็จชลมาร์คพระเจ้าพิมพิสารเสด็จลงส่งเรือพระผู้มีพระภาคเจ้าลุยลงไปในแม่น้ำประมาณเพียงพระศอ  แล้วกราบทูลว่าหม่อมฉันจะมารอรับเสด็จ  ณ  ที่นี้ในยามที่พระชินสีห์เสด็จกลับยังราชคฤหนครอีกครั้งหนึ่ง

       ขณะที่เรือพระที่นั่งทรงของพระองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจากท่ามหาชนพากันทำการสักการบูชายิ่งใหญ่  ไม่มีการเสด็จเรือครั้งใดเสมอเหมือน  จึงเป็นการเสด็จด้วยพระเกียรติอย่างมโหฬารซึ่งพระเจ้าพิมพิสารจัดถวาย  ทั้งเป็นการเสด็จไปจากพระนครหนึ่งสู่นครหนึ่ง  โดยพระมหากษัตริย์ทรงจัดรับส่งทังสองพระนคร  จึงเป็นการเสด็จที่มีกิตติศัพท์ขจรไปไกลในพระประวัติของพระศาสดา

       พระพุทธจริยาตอนเสด็จประทับนั่งเรือนั้น  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า  “ปางประทับเรือ

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์