ปางทรงตัดพระเมาลี |
ลักษณะพระพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนพระแท่น พระหัตถ์ซ้ายทรงรวบพระเมาลีอันยาวไว้ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ ทำอาการทรงตัดพระเมาลี มีนายฉันนะและม้ากัณฐกะอยู่ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระอินทร์พระพรหม (ฆกิการพรหม) และเหล่าเทพยาดาถือบาตร ผ้าทรงและพานสำหรับรองรับพระเมาลี ประวัติความเป็นมา ครั้งนั้น พระสิทธัตถะได้เสด็จออกจากพระนครไปแล้วพญาวัสวดีมารเข้ามาขัดขวางการเสด็จของพระองค์ แล้วทูลว่าราชสมบัติจะเป็นของท่านภายใน ๗ วันนี้แล้ว โปรดรอก่อนอย่าด้วนเสร็จบรรพชาเลย พระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์จึงตรัสตอบไปว่า เราทราบแล้ว สมบัติจักรพรรดิ์นั้นไม่ทำให้เราพ้นทุกข์ได้เลย ท่านจงหลีกไปเถิด เมื่อพญาวัสวดีมารหายไปแล้วพระองค์ก็ได้เสด็จเดินทางต่อไป ๓๐ โยชน์ (๔๘๐) กม.) ในคืนเดียวผ่านรัฐต่างๆ ๓รัฐคือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และเวสาลี บรรลุถึงแม่น้ำอโนมานที ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงเปลื้องพระภูษาเครื่องทรงของขัตติยกษัตริย์ออก มอบให้นายฉันนะผู้ติดตามนำกลับไปยังพระนครกบิลพัสดุ์พร้อมกับม้ากัณฐกะ แล้วพระองค์ก็ทรงตั้งมั่นในพระหฤทัยที่จะบรรพชา จึงทรงรวบพระเมาลียาวด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงจับพระขรรค์ยกขึ้นตัดพระเมาลีที่ทรงรวบไว้นั้นให้ขาดออก แล้วซัดพระเมาลีนั้นขึ้นไปบนอากาศ ทันใดนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงเอาผอบทองมารองรับ อัฐเชิญไปประดิษฐานบรรจุไว้ ณ พระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลก ส่วนพระองค์บรมโพธิสัตว์ ครั้นทรงตัดพระเมาลีแล้ว จึงทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต ซึ่งมีหมู่อมรเทพและท้าวมหาพรหมเรียงรายถวายความเคารพ น้อมถวายสมณบริขาร คือ บาตรและผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วทรงรับเครื่องบริขารเหล่านั้นมาครองเพศเป็นบรรพชิต |