ปางห้ามพยาธิ

   

ลักษณะพุทธรูป

      พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ  แบฝ่าพระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าพระหัตถ์ซ้ายห้อยลงแนบพระกายตามปกติ  เป็นกิริยาที่ทรงห้าม

ประวัติความเป็นมา

      เมื่อครั้งพระนครไพศาลีแคว้นวัชชีเกิดทุพภิกขภัยพิบัติ  คือฝนแล้ง  ข้าวกล้าในนาตาย  ข้าวปลาหายากในชั้นต้นคนยากจน  คนเกียจคร้าน  ต้องอดอาหารตายมาก  เมื่อตายแล้วหาญาติที่จะอนุเคราะห์ศพไม่มี  ศพก็ถูกทอดทิ้งในที่นั้นๆ ยิ่งกว่านั้นโรคอหิวาต์ก็เข้าคุกคาม  เพราะความสกปรกด้วยศพปฏิกูลในถนน  ในแม่น้ำลำคลอง  มนุษย์ได้ตายลงเพราะอหิวาตกโรคก็มาก  ครั้นเมื่อภาคพื้นปฏิกูลด้วยศพมากเข้าพวกปีศาจจำพวกกินซากศพเป็นอาหารก็พากันเข้าพระนคร  เพื่อกินซากศพ  ยิ่งกว่านั้นยังหันเข้าใส่คนป่วยไข้   ชิมรสเนื้อมนุษย์ที่ยังไม่เน่าเปื่อยดูบ้าง  แล้วก็ลามไปถึงมนุษย์ที่ไม่ป่วยไข้แต่สกปรก  เช่นตื่นนอนไม่ล้างหน้า  นอนไม่ล้างเท้า  น้ำไม่อาบ  กินข้าวแล้วไม่บ้วนปาก  ผ้าผ่อนไม่ซัก  แล้วบ้านเรือนไม่กวาดทำความสะอาดเป็นต้น  ในที่สุดมนุษย์ไม่ป่วยแต่สกปรก  ก็เริ่มถูกผีปีศาจเข้าสิงสู่ดูดโลหิตกินเป็นอาหาร  มนุษย์เริ่มตายลงเพราะปีศาจ  ดังนั้นชาวนครไพศาลีจึงประสบภัย  ๓  ประการ  คือ  ข้าวยากหมากแพง  อหิวาตกโรคและปีศาจ  จึงทำให้เกิดความวุ่นวายพากันอพยพไปไอยู่เมืองอื่นก็มีมาก

        ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร  กรุงราชคฤห์  แคว้นมคธราช  ได้เสด็จมาเมืองไพศาลีตามคำอาราธนาของเจ้าลิจฉวี  นามว่ามหาลี  พร้อมกับภิกษุสงฆ์จำนวน  ๕๐๐  รูป  ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จมาทางชลมาร์คสิ้นระยะโยชน์หนึ่ง  จากฝั่งแม่น้ำคงคา  ก็ถึงท่าพระราชอาณาเขตพระนครไพศาลี  จึงเสด็จขึ้นจากเรือรับการสักการะและปฏิสันถาร  ซึ่งเจ้าชายมหาลี  หัวหน้าคณะทูตกราบทูลให้เจ้าลิจฉวีจัดถวายให้โอฬาร  ยิ่งกว่าพระนครราชคฤห์จัดเสด็จตามระยะทาง ๓  โยชน์ สิ้นเวลา  ๓  วัน  ก็ถึงเมืองไพศาลี  ขณะที่เสด็จเหยียบภาคพื้นพระนครไพศาลีก้าวแรก  พระพุทธองค์ก็ประทับยืน  จ้องพระเนตรจับท้องฟ้า  ทรงระลึกถึงพระบารมีที่บำเพ็ญมาแต่ปุเรชาติ  ในทันใดนั้น  มหาเมฆก็ตั้งขึ้นดังแผ่นผาสีครามผืนยาวเหยียด  ในด้านปัจฉิมทิศ  แล้วคลื่นลงมาปกคลุมพระนครไพศาลี  พร้อมกับส่งเสียงคำรามกระหึ่มครึมครวญเปรี้ยงๆ ดังสนั่น  ด้วยสายฟ้าแลบแปลบปลาบ  แล้วห่าฝนใหญ่ก็หลั่งลงดั่งเทน้ำ   เสมือนหนึ่งดังจะจงใจชะล้างพื้นดินให้สะอาดหมดจด  ต้อนรับพระบรมศาสดา

       เมื่อฝนซัดลงมามากมายอย่างนั้นแล้ว  ไม่ช้าน้ำฝนก็ไหลลงท่อธาร  และท่วมท้นป่าเข้าพระนคร  พัดเอาซากศพมนุษย์และสัตว์ซึ่งปฏิกูลพื้นแผ่นดินอยู่  ให้ไหลสู่ทะเลใหญ่สิ้นเชิงพอฝนขาดเม็ดแล้วภาคพื้นก็สะอาด   ความอบอ้าวเร่าร้อนของอากาศก็สงบ  บรรเทาโรคได้ถึงครึ่งด้วยพุทธานุภาพ

       ครั้นเวลาเย็นวันนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงรับสั่งกับพระอานนท์เถระว่า “อานนท์  เธอจงเรียนเอารัตนสูตรนี้  แล้วจาริกไปในกำแพงเมืองไพศาลี  เจริญมนต์รัตนสูตรนี้  เพื่อความสวัสดีจากภัยอันใหญ่ของประชาชนเถิด” 

       ในราตรีนั้น  ท่านพระอานนท์ ก็ได้เรียนเอารัตนสูตรจากพระผู้มีพระภาคเจ้า  แล้วก็ประคองบาตรเสลมัยของพระพุทธองค์  ซึ่งเต็มด้วยน้ำ  ตั้งกัลยาณจิตประกอบด้วยเมตตา  ระลึกถึงพระพุทธคุณ  คือพระบารมี  ๑๐  อุปบารมี ๑๐  และปรมัตถบารมี  ๑๐  ซึ่งทรงบำเพ็ญมาและบารมีในปัจฉิมชาตินี้  จำเดิมแต่เสด็จลงสู่พระครรภ์เป็นต้น  จนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ  ประกาศโลกุตตรธรรม ๙ ประการเป็นที่สุด  เจริญพุทธมนต์รัตนสูตรนี้  เที่ยวจาริกไปยังภายในกำแพงเมือง  พร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีทั้งหลายติดตามห้อมล้อมเดินพลางพรมน้ำมนต์พลางจนรอบพระนคร  มนุษย์ที่กำลังประสบภัยแต่ผีปีศาจและโรค  พอถูกหยดน้ำที่พระเถระเจ้าพรมเท่านั้นก็หายจากโรคภัยมีกำลังสดชื่น  ติดตามแวดล้อมพระอานนท์เถรเจ้า  โห่ร้องแซ่ซ้องสาธุการดังสนั่น  พวกภูตผีปีศาจที่เข้ามาเบียดเบียนมนุษย์  ครั้นได้ยินเสียงมนุษย์ก็สะดุ้งตกใจกลัว  พากันเลี่ยงออกไป  ที่ยังดื้อแอบหลบอยู่ตามบ้านเรือนก็แง้มฝาเรือนและประตูหลบอยู่  เมื่อถูกหยาดน้ำมนต์ของพระอานนท์เถรเจ้าก็เจ็บปวดจะดับจิตประดุจสุนัขถูกฟาดหลังด้วยแส้เหล็ก  ต่างก็พากันเผ่นหนีอย่างไม่คิดชีวิตด้วยความกลัวสยองเกล้า  จึงตั้งหน้าวิ่งหนีออกจากเมืองไป  โดยไม่หันมามองด้านหลังครั้นไปประดังแน่นยัดเยียดกันที่ประตูพระนครและเมื่อไม่สามารถจะทนรออยู่ได้  ก็พากันพังประตูเมืองหนีไปจนหมดโดยสิ้นเชิง

     ครั้นพระอานนท์เถรเจ้าจาริกเจริญรัตนสูตร  ประพรมน้ำพุทธมนต์ไปจนรอบพระนครแล้ว  ก็พามหาชนซึ่งติดตามมาเป็นอันมากเข้าเฝ้าพระบรมศาสดายังที่ประทับ  ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงพระมหากรุณาประทานพระธรรมเทศนาตั้งแต่เบื้องต้น  จนประกาศจตุราริยสัจ  ให้มหาชนชื่นชมโสมนัสปรีดาปราโมทย์เกิดศรัทธากล้าหาญ  ประกาศตนเป็นพุทธมามกะเป็นอันมาก  พระบรมศาสดาทรงพระมหากรุณาประทานพระธรรมเทศนาอยู่ถึง  ๗  วัน  ครั้นทรงทราบว่าภัย  ๓  ประการสงบแล้ว  และประชาชนมีความผาสุกโดยทั่วกันดีแล้ว  ก็ทรงลาพระเจ้าลิจฉวี  เสด็จพระพุทธดำเนินกลับพระนครราชคฤห์ด้วยพระเกียรติยศซึ่งพระเจ้าลิจฉวีและมหาชนพร้อมกันจัดบูชาถวายอย่างโอฬาร  แม้พระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพาร  ตลอดชาวพระนครราชคฤห์ก็มีความยินดี  พากันไปต้อนรับพระบรมศาสดาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา  ให้เสด็จกลับมาประทับ  ณ   พระเวฬุวันมหาวิหาร  สมดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้นั้นฉะนี้แล

     พระพุทธจริยาตอนประทับยืน  ณ  ภาคพื้นพระนครไพศาลีก้าวแรกนั้นแลเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางห้ามพยาธิ

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์