ปางประทับเรือขนาน

   

ลักษณะพุทธรูป

     พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถนั่งบนบัลลังก์  ทรงห้อยพระบาททั้งสองข้าง  พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำอยู่บนพระเพลา  พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ข้างพระองค์

ประวัติความเป็นมา

     เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่  ณ  พระเวฬุวันมหาวิหาร  กรุงราชคฤห์นั้น  พระเจ้าสุมโธทนะ  พระพุทธบิดาได้สดับข่าวจากกิตติศัพท์ที่แผ่ไปทั่วทุกทิศว่า  บัดนี้พระราชโอรสได้บรรลุพระอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว  และกำลังจาริกเผยแผ่พระธรรมแก่ประชาชนในแคว้นต่างๆ ทรงปรารถนาจะได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรส  ดังนั้นพระเจ้าสุทโธทนะจึงโปรดให้อำมาตย์ไปทูลอาราธนากลับมายังกรุงกบิลพัสดุ์จำนวน  ๑๐  คน รวม  ๑๐  ครั้ง  อำมาตย์เหล่านั้นพร้อมด้วยบริวารไปสำเร็จเป็นพระอรหันต์  และทูลขออุปสมบท  พระพุทธองค์ทรงประทานให้อำมาตย์เหล่านั้นอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาทุกคน

     บรรดาอำมาตย์เหล่านั้น  มีท่านพระกาฬุทายีเถระเป็นอำมาตย์คนสุดท้าย  และเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้าด้วยพระกาฬีทายีเถระอยู่จนได้โอกาส  ก็กราบทูลพระบรมศาสดาให้เสด็จไปนครกบิลพัสดุ์  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำพระกาฬุทายีเถระ  แล้วเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ในวันแรม  ๑  ค่ำ เดือน  ๔  พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้ขีณาสพ  ๒๐,๐๐๐  องค์เสด็จพุทธดำเนินไปถึงสุดแคว้นมคธก็มีแม่น้ำใหญ่  เจ้าพนักงานเชิญเสด็จประทับบนบัลลังก์ในเรือขนานข้ามแม่น้ำนั้นแล้วเสด็จพุทธดำเนินไปวันละโยชน์เป็นเวลานานถึง  ๒  เดือนสิ้นระยะทาง  ๖๐  โยชน์ (๙๖๐ กม.)  ก็เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ในกลางเดือนวิสาขะ

      พระพุทธจริยาตอนประทับนั่งบนบัลลังก์ในเรือขนานนั้นเป็นพุทธนิมิตมงคลอย่างยิ่งแก่พุทธบริษัท  จึงเป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า  “ปางประทับเรือขนาน

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์