ปางโปรดพุทธบิดา

   

ลักษณะพุทธรูป

    พระพุทธรูปปางนี้  อยู่ในพระอิริยาบถยืน  พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าประคองบาตร  พระหัตถ์ ขวาทรงยกขึ้นจีบพระองคุลี  เป็นกิริยาแสดงธรรมโปรด

ประวัติความเป็นมา

    เมื่อพระบรมศาสดาทรงพาพระสาวกเสด็จออกบิณฑบาตในพระนครกบิลพัสดุ์  ซึ่งมีเรื่องอนุสนธิต่อจากประวัติพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรต่อไปว่า  ครั้นความทราบถึงพระพุทธบิดาแล้วก็ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก  รีบเสด็จออกไปพบพระพุทธองค์แล้ว  รับสั่งตรัสพ้อต่อว่าพระบรมศาสดาด้วยความน้อยพระทัยที่ทรงเห็นการที่พระบรมศาสดาทรงบาตร  เสด็จโปรดสัตว์ไปตามถนนหลวงมั้นว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ  เป็นการขอทาน  อันจะทำให้ชาวเมืองดูหมิ่นดูแคลนว่าสิ้นเนื้อประดาตัว  ไม่มีจะกิน  ไม่มีญาติมิตรอุปถัมภ์  พระพุทธบิดาก็ไม่รับรองรังเกียจ  ซึ่งบรรดากษัตริย์ทั้งหลายจะไม่ทรงทำกันเป็นเรื่องที่น่าอัปยศมาก  ด้วยพระวาจาเพียงสั้นๆว่า “สิทธัตถะ ประเพณีเคยทำเช่นนี้หรือ”

     พระบรมศาสดากลับทรงรับสั่งตอบพระบิดาด้วยพระอากัปกิริยาปกติว่า  “นี้เป็นประเพณีของตถาคต”  คือการเที่ยวบิณฑบาตนี้เป็นเนติเป็นประเพณีของเราในฐานะที่เป็นพระบรมศาสดาทรงอยู่ในภาวะของสมณะเพศ  ปกติเหล่ากอของสมณะจะต้องบิณฑบาต  ซึ่งเป็นประเพณีของพระสงฆ์ทั่วไป

     แต่พระเจ้าสุทโธทนะไม่ทรงเข้าพระทัย  โดยทรงถือว่าพระองค์เป็นกษัตริย์  แม้พระบรมศาสดาก็เป็นกษัตริย์  ธรรมดาของกษัตริย์ย่อมไม่มีประเพณีเลี้ยงชีวิตด้วยการท่องเที่ยวบิณฑบาตดังนั้น  จึงทรงรับสั่งย้ำอีกว่า  “นี้เป็นประเพณีของเราหรือ”  แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสยืนพระวาจาว่า  “นี้เป็นประเพณีของพระตถาคต”

     เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะตรัสหมายถึงประเพณีกษัตริย์  ส่วนพระพุทธองค์ตรัสหมายถึงประเพณีของพระอริยเจ้า  มีความไม่ตรงกัน   ซึ่งความจริงแล้วก็ถูกด้วยกันทั้งสอง  แต่พระพุทธบิดาไม่ทรงทราบความหมายอันเป็นความจริงของพระวาจาที่พระบรมศาสดาตรัสรับสั่ง  ดังนั้น  พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิบายความหมายของพระวาจาที่ตรัสตอบพระพุทธบิดาว่านับแต่พระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติทั้งพระราชเทวี  และพระโอรสออกจากพระนคร    ไปอยู่ในป่าทรงผนวชอยู่ในเพศของสมณะ  นับว่าพระองค์ได้ขาดจากความเป็นกษัตริย์  ไม่มีความหมายในความเป็นเจ้านาย  ไม่มีประเพณีของกษัตริย์อันใดที่พระองค์จะทรงถืออยู่  และนับแต่นั้นมาพระองค์ก็ทรงตั้งอยู่ในประเพณีของสมณะ  ประพฤติตามทางของพระอริยเจ้าแต่ปางก่อนที่ประพฤติมา  มีการเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีวิตเป็นจริยานุวัตร  แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงเล่าการบำเพ็ญเพียรของพระองค์  ที่ทรงแสดงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณเพื่อความตรัสรู้เพื่อความหลุดพ้นจากสรรพกิเลส  ในที่สุดก็ทรงทำลายตัณหาเป็นสมุจเฉทประหาร  ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ควงไม้อสัตถพฤกษ์โพธิสถาน  ณ  วันเพ็ญเดือนวิสาขะ  กลางเดือน  ๖  ทรงเปลื้องปลดมานะทิฏฐิที่หุ้มห่อดวงปัญญาของพระพุทธบิดา  ให้ทรงเห็นคุณค่าของสมณะบ้างแล้ว  จึงได้ทรงแสดงอริยวังสิกสูตรโปรดพุทธบิดาตามนัยพระบาลีว่า  “อุตฺติฏฺเฐ  นปฺปมชฺเยยฺย  เป็นต้น  โดยพระอิริยาบถยืนทรงบาตรอยู่อย่างนั้น  แม้พระพุทธบิดาก็ทรงประทับยืนฟังพระโอวาทของพระบรมศาสดาในทำนองเดียวกัน  เมื่อจบพระธรรมเทศนา  พระพุทธบิดาก็ได้ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล  แล้วทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกทั้งหลายให้ไปเสวยที่พระราชนิเวศน์พร้อมกัน

     พระพุทธจริยาตอนเสด็จประทับยืนแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดานี้เองเป็นนิมิตอันดีเป็นมงคลอันเลิศล้ำ  เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางโปรดพุทธบิดา

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์