ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ |
ลักษณะพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นเสมอพระอุระ ทรงจีบพระองคุลี แบบพระพุทธรูปปางห้ามญาติพิพาทกันในเรื่องน้ำในแม่น้ำโรหินี ต่างกันแต่ทรงจีบพระองคุลีทั้งสองเป็นกิริยาแสดงธรรม ประวัติความเป็นมา เมื่อพระบรมศาสดา ได้เสด็จจำพรรษาตลอดไตรมาสในวัสสาคำรบ ๗ เพื่อโปรดพระพุทธมารดา และท้าวสักกเทวราชพร้อมทั้งเหล่าเทวดา ครั้นถึงวันปุรณมีแห่งอัสสยุชมาสเพ็ญเดือน ๑๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้ว ทรงรับสั่งแก่ท้าวสักกเทวราชว่า ตถาคตจะลงไปสู่มนุษยโลกในวันนี้ เมื่อท้าวโกลีย์ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว จึงเนรมิตบันไดทิพย์ ๓ บันได สำหรับพระพุทธดำเนินเสด็จลงสู่มนุษยโลก บันไดแก้วอยู่กลาง บันไดทองอยู่ข้างขวา บันได้เงินอยู่ข้างซ้าย เชิงบันได้ทั้ง ๓ นั้น ประดิษฐานอยู่ภาคพื้นปฐพีที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนคร ศีรษะบันไดเบื้องบนจดยอดภูเขาสิเนรุราช บันได้แก้วนั้นเป็นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงบันไดทองเป็นที่เทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินเป็นที่พรหมทั้งหลายตามส่งเสด็จ ขณะนั้นเทพยดาและพรหมทั้งหลาย ได้ประชุมพร้อมกันบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าทั่วจักรวาล เมื่อได้เวลาเสด็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จมาประทับยืนที่ฐานศีรษะบันได้ ในท่ามกลางเทพ พรหมบริษัทซึ่งแวดล้อมเป็นบริวารจึงได้ทรงทำโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลก โดยพระอาการทอดพระเนตรไปในทิศต่างๆ รวมทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างรวม ๑๐ ทิศด้วยกัน และด้วยพุทธานุภาพ ในทันใดนั้น ทุกทิศทุกทางจะแลโล่งตลอดหมดไม่มีสิ่งอันใดกีดกัน เทวดาในสวรรค์จะมองเห็นมนุษย์ เห็นยมโลก เห็นนรกและมนุษย์ก็มองเห็นเทวดา เห็นสัตว์นรก แม้สัตว์นรกก็มองเห็นตลอดเทวดาในสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดปิดบัง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำแดงปาฏิหาริย์เปิดโลก พร้อมกับเปล่งฉัพพรรณรังสีพระรัศมี ๖ ประการ เป็นมหัศจรรย์ ครั้งนั้นเทพยดาในหมื่นจักรวาล ได้มาประชุมกันในจักรวาลนี้ เพื่อชื่นชมพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ พร้อมกับทำการสักการบูชาสมโภชพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยทิพย์บุบผามาลัยเป็นอเนกประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เยื้องย่างลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์โดยบันได้แก้วมณีมัยท่ามกลางเทพยดาในหมื่นจักรวาล มีท้าวสักกะเป็นต้น โดยบันไดทองสุวรรณมัยในเบื้องขวา ท้าวสหัมบดีพรหมเป็นอันมากลงโดยบันได้เงินหิรัญญมัยในเบื้องซ้าย ปัญจสิขรคนธรรมพ์เทพบุตร ทรงพิณมีสีดังผลมะตูมสุกดีดขับร้องด้วยมธุรเสียงอันไพเราะมาในเบื้องหน้าพระบรมศาสดา ท้าวสันดุสิตเทวราชกับท้าวสุยามเทวราชทรงทิพย์จามรถวายพระบรมศาสดาทั้ง ๒ ข้าง ท้าวมหาพรหมปชาบดีทรงทิพย์เศวตฉัตรกั้นถวายพระบรมศาสดา เสด็จเป็นมัคคุเทศก์นำพระบรมศาสดาลงมา ในท่ามกลางทวยเทพยดาและพรหมทั้งหลายพากันแวดล้อมแห่ห้อมเป็นบริวาร เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์สวรรค์โดยบันได้แก้วลงมาถึงเชิงบันได มหาชนทั้งหลายได้เห็นพระรูปพระโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เห็นการเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ ในท่ามกลางเทพยดาและพรหมเป็นอันมาก ครั้งนั้นงามจับอกจับใจอย่างไม่เคยคิดเคยเห็นมาแต่ก่อน ก็พากันลิงโลกแซ่ซ้องสาธุการเสียงสนั่นหวั่นไหว แม้แต่พระสารีบุตรพุทธสาวกยังได้กล่าวคาถาสรรเสริญด้วยความยินดีว่า น เม ทิฏฺโฐ อิโต ปุพฺเพ เป็นอาทิ ความว่า ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งงามด้วยศิริโสภาคยิ่งกว่าเทพเจ้าทั้งมวล มีพระสุระเสียงอันไพเราะอย่างนี้ เสด็จลงมาจากสวรรค์ ขณะนั้น พระบรมศาสดาซึ่งมีพระทัยมากด้วยพระมหากรุณามุ่งหิตานุหิตประโยชน์สุข จึงได้แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ผู้กำลังมีความโสมนัส พึงตาพึงใจในพระรูปโฉมอยู่ในท่ามกลางเทพเจ้าและหมู่พรหม ที่พร้อมกันถวายสักการบูชาด้วยทิพยบุบผานานาวรามิส ให้เกิดกุศลจิตสัมปยุตด้วยปรีชาญาณ หยั่งรู้ในเทศนาบรรหารตามควรแก่อุปนิสัย เมื่อจบเทศนานัยธรรมานุสนธ์ ต่างก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงเบื้องปลาย ตามอุปนิสัยที่ได้สั่งสมมา พระพุทธจริยาตอนเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โดยบันได้แก้วนั่นเองเป็ฯเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์” |