ปางชี้อสุภะ |
ลักษณะพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงแนบพระกายตามปกติ ทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นชี้นิ้วพระหัตถ์ตรงไปข้างหน้าเสมอพระอุระ เป็นอาการชี้อสุภะ ประวัติความเป็นมา ในกรุงราชคฤห์ มีหญิงนครโสเภณีคนหนึ่งรูปงามมากชื่อว่า สิริมา เป็นน้องสาวของนายแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์บุรุษที่มีความประสงค์จะอภิรมย์เข้าร่วมนอนเพื่อให้นางบำเรอด้วย จะต้องจ่ายทรัพย์ให้นาง ๑,๐๐๐ กหาปนะ (เท่ากับเงินสมัยนั้น ๔,๐๐๐บาท) ต่อ ๑ คืนดังนั้นนางสิริมา จึงอยู่ในฐานะเป็นหญิงนครโสเภณีชั้นสูงในเวลานั้น วันหนึ่ง นางอุตตราเศรษฐินี ผู้เป็นภรรยาของท่านเศรษฐีบุตรในกรุงราชคฤห์ แต่ท่านเศรษฐีบุตรผู้นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิส่วนนางอุตตราเป็นอุบาสิกา มีจิตเลื่อมใสและมั่นคงในพระพุทธศาสนา นับแต่นางได้จากเรือนมาผู้ร่วมกับท่านเศรษฐีบุตรแล้ว ไม่มีเวลาได้บำเพ็ญทาน รักษาศีล และฟังพระธรรมเทศนาเลย เป็นความลำบากใจมากที่สุดที่จะทนทานได้ นางจึงส่งคนไปแจ้งเรื่องความเดือดร้อนให้ท่านปุณณเศรษฐีผู้บิดาทราบ พร้อมกับขอเงินก้อนหนึ่งเพื่อเอามาบำเพ็ญกุศล เมื่อนางอุตตราได้เงินสมใจแล้ว จึงได้ขอโอกาสทำบุญต่อสามี ๑๕ วันโดยนางจะไปหานางสิริมา มาปฏิบัติหน้าที่แทนตัว ครั้นสามียินยอมแล้ว นางก็ให้ไปเชิญนางสิริมามาพบ และขอร้องนางสิริมาให้ช่วยอนุเคราะห์รับธุระปฏิบัติสามีของตนให้ ๑๕ วันโดยจะยอมจ่ายเงินตอบสนองให้ตามระเบียบ แม้อาหารการบริโภคทุกอย่างก็จะไม่ให้เดือดร้อน จะบำรุงให้มีความสุขทุกประการตลอดเวลาที่มารับหน้าที่แทนชั่วคราวนั้น ครั้นนางสิริมาตกลงรับหน้าที่เป็นภริยาชั่วคราวแทนตัวแล้ว นางอุตตราก็ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องของนางให้ทรงทราบดีแล้ว ก็ทูลอาราธนาให้พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปเสวยอาหารบิณฑบาตที่เรือนตนตลอดเวลา ๑๕ วันพระบรมศาสดาทรงพระกรุณาได้ทรงอนุเคราะห์พาพระภิกษุสงฆ์ไปทรงทำภัตตกิจที่เรือนของนางอุตตรา อุบาสิกา และทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดทุกวัน นางอุตตราก็นำทาสและคนใช้ในบ้านเข้าโรงครัวใหญ่ จัดทำอาหารด้วยมือของนางเองอยู่ตลอดเวลา ด้วยศรัทธาและปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง ครั้นวันที่ ๑๔ นางอุตตราได้ตระเตรียมอาหารเป็นการใหญ่ ด้วยพรุ่งนี้จะถวายอาหารวันสุดท้ายแล้วขณะนั้นเศรษฐีบุตรสามีของนางอุตตราซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยืนอยู่บนเรือนมองดูอยู่ที่หน้าต่าง เห็นภรรยาสาละวุ่นวายอยู่ด้วยการครัวดูเนื้อตัวผ้าผ่อนเปอะเปื้อนก็นึกด้วยอารมณ์ขันในใจว่า “บัดซบจริงๆ ภรรยาของเรานี้ จะนั่งเป็นสุขอยู่เรือนสิไม่ชอบ” แล้วก็หลบเข้าเรือนไป ขณะนั้น นางสิริมายืนเคียงข้างอยู่ด้วย เห็นเศรษฐีบุตรยิ้มๆ แล้วหลบไปเช่นนั้น กลับคิดไปในเรื่องรักๆใคร่ๆว่า เศรษฐีบุตรคงจะไม่พอใจนางอุตตราเป็นแน่ อาศัยที่นางสิริมาอยู่ในฐานะเป็นภริยาชั่วคราว มีความสุขและเกียรติอันสูงแถมยังได้เงินเป็นค่าจ้างด้วย แต่กลับลืมตัวไปว่าเขาจ้างมา เข้าใจว่าตนเป็นภรรยาแท้ๆ เป็นแม่เจ้าเรือนของท่านเศรษฐีบุตร จึงเกิดความหึงหวง บันดาลโทสะขึ้นมาผลุนผลันลงจากเรือนตรงไปที่โรงครัว คว้าเอาทัพพีในมือคนทอดขนมตักน้ำมันในกระทะกำลังเดือดพล่านอยู่ เทลดนางอุตตราตั้งแต่ศีรษะลงไปจนทั่วตัวด้วยอำนาจเมตตาจิตที่นางอุตตรามีอยู่ในนางสิริมา มิได้มีความโกรธเคืองในการเบียดเบียนนั้นเลย โดยนึกว่า นางสิริมาเป็นเพื่อนร่วมบุญกุศลใหญ่ครั้งนี้ ถ้านางสิริมาไม่ช่วยรับภาระแม่เรือนให้แล้ว ที่ไหนตนจะได้มีโอกาสได้ทำบุญ ดังนั้นน้ำมันที่ลาดลงบนศีรษะของนางจึงเย็นเหมือนน้ำหอมที่ชะโลมบนผิวกาย มิได้ระคายผิวกายให้แสบร้อนแม้แต่น้อย ขณะนั้น บรรดาคนครัวทั้งหมด พากันตกตลึงไปชั่วครู่หนึ่ง ด้วยคิดไม่ถึงว่า นางสิริมาจะมาทำร้ายนายผู้หญิงของตนถึงเพียงนั้นและแล้วในทันใดนั้นเองก็เคียดแค้นแทนนายพากันถลันเข้าจิกผมนางสิริมา กระชากมาตบให้ล้มลงไปนอนกลิ้งอยู่กับพื้น ปากก็พร่ำด่าเสียงสนั่นลั่นครัว มิทันที่คนครัวทั้งหมดที่พากันวิ่งประดังกันเข้ามาเพื่อจะลงมือตุ๊บตั๊บซ้ำเติมนางสิริมาให้ถึงใจด้วยความเคียดแค้น นางอุตตราได้ลุกถลันยกมือขึ้นพร้อมกับห้ามว่า “อย่า..อย่า..ลูกทุกคนหยุด ถอยออกไป ลูก..เจ้าไปทำร้ายเพื่อนรักของแม่ทำไม” ว่าแล้วก็เข้าไปประคองนางสิริมาให้ลุกขึ้นลูบเนื้อลูบตัวพูดให้นางสิริมาเบาใจ หายความสะดุ้งหวาดกลัวเตือนความรู้สึกให้คืนสู่สภาพเดิม เมื่อนางสิริมาได้สติรู้สึกตัวว่า ตนหาใช่แม่เจ้าเรือนไม่หาใช่เจ้าของนายบ้านไม่ ที่แท้ก็เป็นเพียงคนรับจ้างนางอุตตรามาปฏิบัติหน้าที่แก่สามีของนาง ก็ละอายใจ รู้สึกตนว่าประพฤติผิดมาก ยิ่งเห็นนางอุตตราไม่โกรธตอบซ้ำแสดงความไมตรีจิตด้วยวาจาและกิริยาน่ารักใคร่เช่นนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความเคารพยำเกรง ซาบซึ้งในคุณสมบัติของนางอุตตราร้องขอโทษ ด้วยถ้อยคำอันแสดงชัดว่าตนได้ทำผิดอย่างน่าสงสาร นางอุตตรากล่าวว่า หากแม้สิริมารู้สึกว่าทำผิดไปจริงๆฉันก็พลอยดีใจด้วย และถ้าแม่สิริมายังยินดีจะขอให้อภัยอดโทษแล้ว ควรจะไปขอกะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดาที่เคารพสูงสุดของดิฉัน “ฉันยินดีปฏิบัติตามคำของเธอทุกประการ” นางสิริมากล่าวสารภาพ “แต่ฉันยังไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเธออ้างว่าเป็นพระบิดาที่เคารพสูงสุดของเธอนี่” “ไม่เป็นการลำบากเลย แม่สิริมา” นางอุตตรากล่าวเปิดทาง “พรุ่งนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จมาเสวยเช้าที่เรือนฉัน พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หลายรูปด้วยกัน แม่สิริมาปลีกเวลามาเฝ้าพระพุทธองค์ที่เรือนฉันซิน๊ะ พระบิดาของฉันพระทัยดีมาก จะทรงเอ็นดูเธอ ฉันคิดว่าเธอจะเลื่อมใสและเคารพรักในพระเมตตาของพระบิดาของฉันมากทีเดียว” “คนอาภัพอย่างฉันเช่นนี้ หากพระพุทธองค์จะทรงพระกรุณาโปรดอย่างเช่นเธอว่าก็ดูจะมิเป็นคนมีวาสนามากไปรึ แม่อุตตรา” เอาเถอะแม่สิริมา แล้วเธอจะเห็นเอง ว่าแต่พรุ่งนี้เช้าอย่าลืมก็แล้วกัน “ฉันจะมาตามเวลา” นางสิริมาพูดแล้วกราบลานางอุตตราขึ้นเรือนไป รุ่งขึ้นพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ได้เสด็จไปเรือนนางอุตตรา เพื่อทำภัตตกิจตามกำหนดอาราธนา นางอุตตราได้พานางสิริมาพร้อมหญิงคนใช้เข้าเฝ้าถวายอภิวาท พร้อมกับกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นประกอบ เพื่อให้ทรงพระกรุณาประทานอดโทษให้นางสิริมา กับเพื่อให้ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดอีกด้วย พระบรมศาสดาทรงพระกรุณาประทานอภัยโทษ และทรงอนุโมทนาในธรรมจริยาของนางอุตตรา พร้อมกับตรัสคาถาประทานด้วยว่า “บุคคลควรชำนะความโกรธของเขา ด้วยความไม่โกรธของเรา บุคคลควรชำนะความไม่ดีของเขา ด้วยความดีของเรา บุคคลควรชำนะความตระหนี่ด้วยการเสียสละ บุคคลควรชำนะคนพูดพล่อยๆ ด้วยความจริง” ครั้นแล้ว ได้ทรงประทานธรรมเทศนาโปรดนางสิริมากับหญิงคนใช้ให้ตั้งอยู่ในพระอิริยบุคคลขั้นโสดาปัตติผล ในวันรุ่งขึ้น นางสิริมาได้ทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ไปเสวยอาหารบิณฑบาตในเรือนของตนประกาศตนเป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา พร้อมจัดตั้งนิพัทธาหารถวายพระสงฆ์ ขอให้พระพุทธองค์จัดส่งพระภิกษุมารับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนวันละ ๘ รูปทุกวัน และจำเดิมแต่กาลนั้นมา นางสิริมาก็หยุดกิจการนครโสเภณีบำเพ็ญกุศล ฝักใฝ่อยู่ในกองบุญในพระพุทธศาสนาตลอดมา ต่อมาไม่นาน นางสิริมาได้ป่วยด้วยโรคปัจจุบัน คือเพียงแต่เวลาเช้ายังลุกขึ้นใส่บาตรพระ ๘ รูป ที่เข้ามารับบาตรที่เรือนได้ พอเวลาเย็นก็ถึงแก่กรรม พระเจ้าพิมพิสารได้ส่งราชบุรุษ ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า “บัดนี้ นางสิริมา น้องสาวหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว จะทรงโปรดประการใด พระพุทธเจ้าค่ะในฐานะที่เธอเป็นสาวิกาของพระองค์” พระบรมศาสดาตรัสสั่งให้ราชบุรุษกลับไปทูลว่า ขอให้รอการเผาศพนางสิริมาไว้ก่อนล่วงไปได้ ๓ วัน ศพนางศิริมาก็พองขึ้นเต็มที่ น้ำเหลืองไหลออกจากทวารทั้ง ๙ กลิ่นศพเหม็นตลบสุสาน พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้เจ้าพนักงานจัดงานพระราชทานเพลิงศพนางสิริมา โดยประกาศให้ประชาชนไปพร้อมกันที่สุสาน แม้พระองค์พร้อมด้วยเสวกามาตย์ราชบริพารก็เสด็จทั้งได้โปรดให้กราบทูลพระบรมศาสดาทรงทราบด้วย ครั้นพระบรมศาสดาทรงทราบแล้วก็โปรดให้ประกาศแก่ภิกษุทั้งหลายให้ไปพร้อมกัน เพื่อเยี่ยมศพนางสิริมาที่สุสานในงานพระราชเพลิงศพนางสิริมา ณ บ่ายวันนี้ ครั้นได้เวลา พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ก็เสด็จไปยังสุสานนั้น ได้ทรงนำพระสงฆ์ประทับยืนทอดพระเนตรดูอยู่ข้างหนึ่ง ภิกษุณีสงฆ์ก็ยืนอยู่ข้างหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพารก็ประทับยืนอยู่ข้างหนึ่ง เหล่าอุบาสกอุบาสิกา ประชาชนชายหญิงก็พากันยืนสงบกิริยาดูอยู่อีกข้างหนึ่ง พระบรมศาสดารับสั่งถามพระเจ้าพิมพิสารราชมคธว่า “มหาบพิตรใครนั่น” “น้องสาวหมอชีวก ชื่อ สิริมา พระพุทธเจ้าค่ะ” “นั่น ! นางสิริมาหรือ ถวายพระพร” “ใช่แล้ว พระพุทธเจ้าค่ะ” “ถ้าเช่นนั้น ขอมหาบพิตรได้โปรดให้ขายทอดตลาดนางสิริมาใครให้ ๑,๐๐๐ กหปนะ ก็ให้รับเอานางสิริมาไปได้ทันที” ครั้นพระเจ้าพิมพิสารโปรดให้ประกาศตามพระพุทธพจน์แล้ว ก็หามีผู้ใดผู้หนึ่งมารับซื้อไม่ ดังนั้น จึงโปรดให้ลดราคามาโดยลำดับจนถึง หนึ่งกากนิก ก็ยังไม่ปรากฏคนซื้อ ในที่สุดก็โปรดรับสั่งว่า “ให้เปล่า” ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีคนรับ จึงได้กราบทูลพระบรมศาสดาว่า “แม้แต่ให้เปล่า ก็ไม่มีคนต้องการ พระพุทธฌจ้าค่ะ” พระบรมศาสดาทรงชี้ศพนางสิริมา พร้อมกับรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอจงดูสตรีรูปงาม เป็นที่รักใคร่ของมหาชนในพระนครนี้ แต่ก่อนจะได้ชมนางเพียงหนึ่งวันจะต้องจ่ายทรัพย์ให้นางถึง ๑,๐๐๐ กหาปนะ แต่บัดนี้แม้จะให้เปล่าก็ไม่มีคนต้องการ ภิกษุทั้งหลาย รูปกายนี้ถึงความสิ้นไปเสื่อมไปอย่างนี้แหละ ท่านทั้งหลายจงพิจารณาดูอัตภาพอันอาดูรให้ตระหนักเถิด แล้วตรัสคาถาประทานพระธรรมเทศนาแก่มหาชนที่ประชุมกันอยู่ ณ สุสานนั้นว่า “สูเจ้าจงพิจารณาดูร่างกาย ที่ตกแต่งให้งดงามด้วยอาภรณ์พรรณต่างๆ เพียบพร้อมด้วยอังคาพยบน้อยใหญ่ มีทวารทั้ง ๙ สำหรับเป็นทางให้สิ่งปฏิกูลไหลเข้าไหลออกอยู่เป็ฯประจำ ปรุงแต่งขึ้นด้วยกระดูกหลายร้อยท่อน อาดูรด้วยความไม่สบายเหมือนเป็นไข้ อันจะต้องแก้ไขด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ ที่มหาชนมีความใคร่กันอยู่โดยมาก แต่หาความยั่งยืนคงทนมิได้เลย ในที่สุดก็แปรสภาพมาเป็นเช่นนี้ ซึ่งทุกคนก็ต้องเป็นเช่นนี้เหมือนกัน” พระธรรมเทศนา ได้อำนวยอริยมรรคอริยผลแก่มหาชนที่ประชุมอยู่ ณ ที่นั้นเป็นอันมาก พระพุทธจริยาทรงชี้ร่างกายเป็นปฏิกูลนี้เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางชี้อสุภะ” |