ปางบำเพ็ญทุกกรกิริยา |
ลักษณะพระพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิพระหัตถ์ทั้งสองซ้อนวางกันวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย อุตตราสงค์(จีวร) อยู่บนพระอังสาเล็กน้อยข้างขวาหลุดลงมาอยู่บนพระเพลา บางแห่งทำแบบจีวรหลุดลงมาหมด พระกายซูบผอม จนพระอิฐ พระนหารู (เอ็น)ปรากฏชัด ประวัติความเป็นมา พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ทรงบรรพชาแล้วเสด็จประทับแรมอยู่ที่อนุปิยอัมพวันแขวงมัลลชนบทชั่วเวลา ๗ วัน แล้วเสด็จจาริกไปในต่างแดนเข้าเขตมคธชนบท แล้วเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ทรงมีกิริยาสงบแผกจากบรรพชิตอื่น ในเวลานั้นพระองค์จึงเกิดเป็นบรรพชิตที่สำคัญควรที่ผู้มีปัญญาจะพึงสำเนียกดูพฤติการณ์ ดังนั้นพวกราชบุรุษจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดีแห่งมคธให้ทรงทราบ ท้าวเธอจึงรับสั่งให้สะกดรอยติดตามเพื่อพิสูจน์ความเท็จจริงของบรรพชิตพิเศษรูปนี้ ครั้นราชบุรุษผู้ออกติดตามได้ทราบความจริงตามที่ได้สังเกตเห็นแล้ว จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดีแห่งมคธให้ทรงทราบทุกประการ ครั้นพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบ ก็มีพระทัยโสมนัสในพระคุณสมบัติทรงมีพระประสงค์จะได้เข้าเฝ้า จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครโดยด่วน ครั้นเสด็จถึงบัณฑวะบรรพตก็เสด็จลงจากพระราชยาน ทรงดำเนินเข้าไปเฝ้าพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระอิริยาบถเรียบร้อยอยู่ในสมณสังวร ก็ยิ่งหลากพระทัย ทรงเลื่อมใสในปฏิปทายิ่งขึ้น จึงตรัสถามถึงตระกูล ประเทศและชาติเมื่อทรงทราบว่าเป็นขัตติยศากยราชเสด็จออกบรรพชา ก็ทรงดำริว่าชะรอยพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์จะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติด้วยเรื่องราชสมบัติเป็นแม่นมั่น จึงได้ทรงเสด็จออกบรรพชาอันเป็นธรรมดาของนักพรต ที่ออกจากราชตระกูลในกาลก่อนจึงทรงชักชวนเชื้อเชิญพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติซึ่งพระองค์ยินดีจะแบ่งถวายให้เสวยราชสมบัติสมพระเกียรติทุกประการ พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ตรัสตอบขอบพระทัย พระเจ้าพิมพิสารที่ทรงมีพระเมตตาแบ่งราชสมบัติ พระราชทานแต่พระองค์มิได้มีความประสงค์จำนงหมายเช่นนั้น ทรงสละสมบัติออกผนวช เพื่อจะมุ่งแสวงหาพระสัมมาสัมโพธิญาณโดยแท้ พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับก็ตรัสอนุโมทนา และทูลขอปฏิญญากะพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณสมประสงค์แล้ว ขอให้ทรงพระกรุณาเสด็จมาแสดงธรรมโปรดด้วย ครั้นพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ทรงรับปฏิญาณแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับพระนคร ลำดับนั้น พระมหาบุรุษโพธิสัตว์ก็เสด็จจาริกจากที่นั้นไปสู่สำนักท่านอาฬารดาบสกาลมโคตร ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในพนาสณฑ์ตำบลหนึ่งขอพำนักศึกษาวิชาและปฏิบัติอยู่ด้วย ทรงศึกษาอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุสมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ สิ้นความรู้ของอาฬารดาบส ทรงเห็นว่าธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาจากอาฬารดาบสไปสู่สำนักอุทกดาบสรามบุตร ขอพำนักศึกษาอยู่ด้วยทรงศึกษาได้อรูปฌานเพิ่มขึ้น อีก ๑ ครบสมาบัติ ๘ สิ้นความรู้ของอุทกดาบส ครั้นทรงไต่ถามถึงธรรมวิเศษขึ้นไป อุทกดาบสก็ไม่สามารถจะบอกได้ และได้ยกย่องตั้งพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ไว้ในที่เป็นอาจารย์เสมอด้วยตน แต่พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ทรงเห็นว่า ธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาออกแสวงหาธรรมวิเศษสืบไป ทั่งมุ่งพระทัยจะทำความเพียรโดยลำพังพระองค์ด้วย ได้เสด็จจาริกไปยังมคธชนบท บรรลุถึงตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ราบรื่น แนวป่าเขียวสด เป็นที่เบิกบานใจแม้น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน่ารื่นรมย์ โคจรคามคือหมู่บ้านที่อาศัย เที่ยวภิกษาจารก็ตั้งอยู่ไม่ไกล ทรงเห็นว่าสถานที่นั้นควรเป็นที่อาศัยของกุลบุตร ผู้มีความต้องการด้วยความเพียรได้จึงได้เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น ฝ่ายโกณฑัญญพราหมณ์ ได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถกุมาร เสด็จออกบรรพชาแล้วก็ดีใจ รีบไปชักชวนบุตรของเพื่อนพราหมณ์ ๘ คนที่ร่วมคณะถวายคำทำนายพระลักษณะด้วยกันโดยกล่าวว่า บัดนี้ พระสิทธัตถกุมารได้เสด็จออกบรรพชาแล้ว ตามคำพยากรณ์พระองค์จะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ไม่มีข้อที่จะสงสัยไปเป็นอื่นถ้าบิดาของท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้แน่ดังนั้นหากท่านปรารถนาจะบวช ก็จงมาบวชตามเสด็จพระกุมารด้วยกันเถิด แต่บุตรพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้น หาได้พร้อมใจกันทั้งหมดไม่ ยินดีรับจะออกบวชด้วยเพียง ๔ คนเท่านั้นโกณฑัญญพราหมณ์ ก็พาพราหมณ์มาณพทั้ง ๔ คน ออกบรรพชา เป็น ๕ คนด้วยกันจึงได้นามว่า “พระปัญจวัคคีย์” เพราะมีพวก ๕ คน คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ ได้ชวนกันออกสืบเสาะติดตามพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ในที่ต่างๆ จนไปประสบพบพระมหาบุรุษโพธิสัตว์ที่ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม จึงได้พากันเข้าไปถวายอภิวาทแล้วอยู่ปฏิบัติบำรุงจัดทำธุรกิจถวายทุกประการโดยหวังว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง มหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่าเป็นทางให้ได้ตรัสรู้ในสมัยนั้น โดยทรงทรมานพระกายให้ลำบาก อันเป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระดังนี้คือ :- วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหาไว้ให้แน่น จนพระเสโทไหลโซมจากพระกัจฉะ ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังมาก จับบุรุษที่มีกำลังน้อยที่ศีรษะหรือที่คอบีบให้แน่นฉะนั้น แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบระงับอย่างนี้ แต่ทุกขเวทนานั้นไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่ายได้ พระองค์มีสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน ทรงบากบั่นมั่นในความเพียรติดต่อไม่ท้อถอย ครั้นทรงเห็นว่าการทำอย่างนั้นไม่ใช่ทางให้ตรัสรู้ได้แล้ว จึงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ เมื่อลมเดินไม่ได้สะดวกทางช่องพระนาสิกและช่องพระโอษฐ์ ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณทั้งสองข้างให้ปวดพระเศียรเสียดพระอุทร ร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้จะได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าถึงเพียงนั้น แต่ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่ายได้ ทรงมีพระสติไม่ฟั่นเฟือน ทรงบากบั่นมั่นในการปรารภความเพียรติดต่อไม่ย่อหย่อน ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทางให้ตรัสรู้ได้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป วาระที่ ๓ ทรงอดพระกยาหาร ทรงผ่อนเสวย ลดอาหารให้น้อยลงๆ ในที่สุดก็ไม่เสวยเลย จนพระวรกายเหี่ยวแห้งพระฉวีเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมามีรากเน่าก็ล่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังก็น้อยถอยลง จนเสด็จไปข้างไหนก็ซวนล้ม ชนทั้งหลายที่ได้พบเห็นแล้วก็กล่าวกันว่าพระโคดมดำไปบ้าง บางพวกก็กล่าวว่าไม่ดำแต่คล้ำไปบ้าง บางพวกก็กล่าวว่าไม่เป็นอย่างนั้นเป็นแต่พร้อยไปบ้าง อยู่มาวันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลังอิดโรยหิวโหยเป็นที่สุด จนไม่สามารถจะทรงพระวรกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพล้มลงในที่นั้น ขณะนั้นเทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่า พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงรีบไปยังปราสาทพระเจ้าสุทโธทนะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ทูลว่าบัดนี้ พระสิทธัตถะพระราชโอรสของพระองค์ได้สิ้นพระชนชีพเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งถามว่า พระโอรสของเราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือยังเป็นประการใด เทพยดาตอบว่า ยังมิได้ตรัสรู้ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อจึงรับสั่งว่า จะเป็นเช่นนั้นไปไม่ได้หากพระโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะไม่ด่วนทำลายพระชนม์ชีพก่อนเลย แล้วเทพยดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ไป ส่วนพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ เมื่อได้สัญญาพื้นพระกายคุมพระสติให้ตั้งมั่นทรงพิจารณาดูปฏิปทาในการบำเพ็ญอยู่ก็ทรงดำริว่า ถึงบุคคลทั้งหลายใดๆ ในโลกนี้จะทำทุกกรกิริยาอุกฤษฏ์นี้ บุคคลนั้นก็ทำทุกกรกิริยาให้เสมออาตมะเท่านั้น จะทำให้ยิ่งกว่าอาตมะหาได้ไม่ แม้อาตมะปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ถึงเพียงนี้แล้ว ไฉนหนอจึงไม่ได้พระบรรลุพระโพธิญาณ ชรอยทางตรัสรู้จะมีอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างนี้แน่ เกิดพระสติหวลระลึกถึงความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางให้ตรัสรู้บ้าง ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ ดังนั้นจึงทรงพิณทิพย์สามสายมาดีดถวายพระมหาบุรุษโพธิสัตว์ สายหนึ่งตึงนัก พอดีดหน่อยก็ขาด สายหนึ่งหย่อนนัก พอดีดก็ไม่ส่งเสียง สายหนึ่งไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป พอปานกลาง ดีดเข้าก็บันลือเสียงไพเราะเจริญใจ เมื่อพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ได้สดับเสียงพิณ ทรงหวลระลึกถึงพิณที่เคยทรงมาแต่ปางก่อน ก็ทรงตระหนักแน่แก่พระทัย และถือเอาเป็นนิมิต ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกกรกิริยามิใช่ทางตรัสรู้แน่ ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิตปฏิบัติปานกลาง ไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก จึงใครจะทรงตั้งปณิธานทำความเพียรทางจิต ทรงเห็นว่าความเพียรทางจิตเช่นนั้น คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมะนี้ ย่อมไม่สามารถจะทำได้ ควรจะหยุดพักกินอาหารแข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระกระยาหารอีก เพื่อบำรุงพระวรกายตามเดิม |