ปางปฐมบัญญัติ |
ลักษณะพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตะแคงยื่นตรงไปออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาบัญญัติพระวินัย เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ประวัติความเป็นมา สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต ใกล้เมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์ผู้ครองเมืองเวรัญชาได้ทราบกิตติศัพท์ของพระพุทธองค์ซึ่งฟุ้งขจรไปว่าพระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าบริบูรณ์ ทรงแสดงธรรมไพเราะนัก ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ทรงคุณสมบัติเห็นปานนั้น เป็นความดี ดังนั้น เวรัญชพราหมณ์จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ครั้นผ่านการปราศรัยพอสมควรแล้ว ได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า ได้ยินว่าพระองค์ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อนี้ไม่สมควรเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลกนี้หรือในโลกอื่น เรายังไม่เล็งเห็นบุคคลที่ควรไหว้ ควรลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับหรือพึงเชื้อเชิญด้วยอาสนะ ศีรษะของบุคคลนั้นก็พึงจะขาดตกไป ท่านพระโคดม เป็นคนไม่มีรส พราหมณ์กล่าวตู่ จริง พราหมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบ เพราะรสในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราละได้แล้ว ตัดรากขาดเสียแล้ว แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านกล่าวหมาย ท่านพระโคดม เป็นผู้ไม่มีโภคะ จริง พราหมณ์ เพราะโภคะ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราละได้แล้ว แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านกล่าวหมายเมื่อพราหมณ์ทูลถามตามความสงสัยของตนแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเวรัญชพราหมณ์ทุกประการจนสิ้นความสงสัย เมื่อเวรัญชพราหมณ์ได้สดับแล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาแล้วปฏิญาณตนเป็นอุบาสก เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต พร้อมกับทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคกับทั้งภิกษุสงฆ์ให้อยู่จำพรรษาในเมืองเวรัญชา ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายบังคมทูลลากลับไป พระผู้มีพระภาคพร้อมกับพระสงฆ์สาวกจำพรรษา ณ เมืองเวรัญชาแล้ว ครั้นออกพรรษาแล้วรุ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป เสด็จไปเสวยอาหารบิณฑบาตที่นิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ เมื่อเสด็จภัตตกิจแล้ว เวรัญชพราหมณ์ได้น้อมผ้าคู่ถวายพระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ทุกองค์ ๆ ละ ๑ สำรับ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุโมทนาให้เวรัญชพราหมณ์มีความอาจหาญชุ่มชื่นในไทยทานที่ถวายแล้วก็เสด็จกลับ ต่อนั้นก็เสด็จออกจากเมืองเวรัญชา จาริกไปตามอัธยาศัย เสด็จผ่านเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมืองกัณณะกุชชะ โดยไม่ทรงแวะประทับ เสด็จเลยไปถึงเมืองปยาคะ อันเป็นเมืองท่า เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาที่ท่าเมืองปยาคะ แล้วเสด็จไปนครพาราณสี เสด็จประทับพักที่เมืองพาราณสีพอสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้วเสด็จจาริกไปนครเวสาลี เข้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ครั้งนั้น มีเศรษฐีบุตรคนหนึ่ง ชื่อว่า สุทิน กลันทบุตรอยู่ในบ้านกลันทคามใกล้นครเวสาลี ได้สดับพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วมีความเลื่อมใส มีศรัทธาจะบวชในพระพุทธศาสนา จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์ตรัสว่าในพระธรรมวินัยนี้ จะรับกุลบุตรบวชเฉพาะผู้ที่บิดามารดาได้อนุญาตแล้ว สุทินกลันทบุตร ใจดีถวายบังคมลากลับเรือน เข้าไปหามารดาบิดารขออนุญาตบวช ท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดามารดาไม่ยอมอนุญาตกล่าวว่า พ่อเป็นลูกคนเดียว ทรัพย์สมบัติมีมากใครจะเป็นผู้รับมรดก สุทินกลันทบุตร เสียใจไม่บริโภคอาหาร คิดอยู่แต่ว่าอยู่ก็บวช ไม่ให้บวชก็ตายเท่านั้น อดอาหารมาได้ ๗ วัน เพื่อนของสุทินกลันทบุตร ไปเยี่ยมบอกท่านเศรษฐีว่า ควรอนุญาตให้สุทินบวชเถิด เพราะถ้าไม่ได้บวชก็จะตายไม่มีโอกาสเห็นกัน ถ้าบวชแล้วยังมีโอกาสเห็นกัน อนึ่งการบวชอยู่ในเพศบรรพชิตลำบาก สุทินเคยมีความสุข จะบวชไปไม่เท่าใด ไม่นานก็จะสึกมาครองเรือน มารดาบิดาสุทินกลันทบุตร เห็นชอบด้วยก็อนุญาตให้สุทินบวช สุทินกลันทบุตรดีใจลุกขึ้นบริโภคอาหาร พักผ่อนให้มีกำลัง๒-๓ วันแล้วไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ไปรับอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ครั้นบวชแล้วประพฤติมั่นอยู่ในธุดงค์คุณถึง ๔ ประการ หลีกออกบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าใกล้บ้านชาววัชชีแห่งหนึ่ง บังเอิญในเวลานั้นวัชชีชนบทข้าวยากชาวบ้านหาเลี้ยงชีพฝืดเคือง ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตไม่ได้อาหารมีความลำบากมา พระสุทินคิดว่า ชาวบ้านวัชชีอดอยากเพราะข้าวยากหมากแพง เราควรหลบไปอยู่ที่นครเมืองเวสาลีชั่วคราวเพราะญาติมิตรที่มั่งคั่งที่นั่นมีอยู่มาก จะไม่ลำบากด้วยอาหารนัก จึงได้ออกจากบ้านชาววัชชีไปอยู่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันใกล้พระนครเมืองเวสาลี วันหนึ่ง ท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาพบเข้า จึงนิมนต์พระสุทินให้เข้าไปฉันบิณฑบาตในเรือน ได้เอาเงินทองและทรัพย์สมบัติตลอดภรรยาเก่าของพระสุทิน มาเล้าโลมให้พระสุทินสึก พร้อมกับรำพันถึงตระกูลมีบุตรคนเดียว ไม่มีทายาทรับมรดก พระสุทินก็ตอบว่า ยังยินดีในพรหมจรรย์ เมื่อบวชมารดาบิดาพระสุทินหมดหวัง จึงขอร้องเป็นวาระสุดท้ายว่าถ้าเช่นนั้นก็ขอพืชพันธุ์ไว้เป็นทายาทบ้าง อย่าต้องให้เจ้าลิจฉวีริบทรัพย์สมบัติของเรา ผู้หาบุตรสืบตระกูลมิได้เลย พระสุทินตอบว่า เพียงเท่านี้อาจทำได้ ในที่สุดพระสุทินก็ได้ร่วมประเวณีกับภรรยาเก่า ได้บุตรชายคนหนึ่งชื่อว่า พีชกะ พระสุทินยังมองไม่เห็นโทษ เพราะยังไม่มีสิกขาบทห้ามไว้ ต่อมาพระสุทินไม่สบายใจ รู้สึกว่าตนประพฤติไม่ดีไม่งาม ไม่เหมือนบรรพชิตทั้งหลาย ตรอมใจ ท่านได้ซูบผอมเศร้าหมอง มีทุกข์โทมนัสซบเซาไม่มีความสุขด้วยเรื่องในใจครั้นเพื่อนสพรหมจรรย์ไต่ถามจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุทั้งหลายตรัสถามพระสุทินกลันทบุตรในเรื่องนี้ พระสุทินได้กราบทูลตามสัจจริงทุกประการ พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระสุทิน เพราะเหตุนี้เป็นอันมากแล้วรับสั่งว่า เพราะเหตุนี้เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการคือ ๑. เพื่อความดีแห่งสงฆ์ ๒. เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๓. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๔. เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๕. เพื่อกำจัดอาสวะอันจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน ๖. เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดขึ้นในอนาคต ๗. เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของผู้ยังไม่เลื่อมใส ๘. เพื่อความเจริญแห่งความเลื่อมใสของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย แล้วทรงบัญญัติปฐมสิกขาบท กำหนดเป็นปฐมบัญญัติจัดเข้าในอุเทศแห่งพระปาติโมกข์ ใน พระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้ พระพุทธจริยาตอนทรงบัญญัติสิกขาบทอันเป็นปฐมบัญญัตินี้เอง เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางปฐมบัญญัติ” |