ปางสนเข็ม |
ลักษณะพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายทำกิริยาจับเข็ม พระหัตถ์ขวาทำกิริยาจับเส้นด้ายอยู่ในพระอาการสนเข็ม ประวัติความเป็นมา สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ขณะนั้นจีวรของพระอนุรุทธเถระเจ้าเก่าคร่ำคร่า ดังนั้น พระอนุรุทธเถระเจ้าจึงเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลตามกองหยากเยื่อ ที่บุคคลนำมาทิ้ง ด้วยเป็นเศษผ้าหรือเป็นผ้าปฏิกูลบ้าง ตามสุสานที่บุคคลห่อศพมาทิ้งไว้ตามราวไพร หรือสุมทุมพุ่มไม้ที่บุคคลผู้มีศรัทธาน้ำมาทิ้งไว้ถวาย ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “ผ้าป่า” ในบัดนี้บ้างเพื่อเอาไปผสมกันให้พอทำจีวรในสมัยจีวรกาล (คือเวลาทำจีวรตามพระพุทธบัญญัติที่เรียกว่าเวลาทอดกฐิน คือวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ รวมกำหนด ๑ เดือน) ตามนิสัยพระเถระเจ้า ผู้นิยมใช้ผ้าบังสุกุลจีวรเป็นปกติ บังเอิญว่าในตอนนั้น นางชาลินีเทพธิดา ซึ่งอดีตชาติที่ ๓ ได้เคยเป็นภรรยาที่ดีของพระอนุรุทธเถระเห็นพระเถระกำลังเที่ยวหาผ้าอยู่จึงเอาผ้าอย่างดี ๓ ผืนกว้าง ๔ ศอก ยาว ๑๒ ศอก มาเพื่อตั้งใจถวายพระเถระเจ้า แต่พลันคิดได้ว่าหากถวายตรงๆดังคิดไว้พระเถระอาจไม่รับ เราจะจัดถวายแบบผ้าบังสุกุล ดังนี้แล้ว ก็กำหนดดูทางที่พระเถระจะเดินผ่านมาแล้วเอาผ้าทั้ง ๓ ผืนนั้นวางไว้ใกล้ทางเอาหยากเยื่อถมไว้ให้ปรากฏเหลือชายผ้าไว้หน่อยหนึ่งพอที่พระเถระเดินผ่านมาจะสังเกตเห็นได้ แล้วหลีกไป ครั้นพระอนุรุทธเถระ เดินแสวงหาผ้าผ่านมาทางนั้นเห็นชายผ้าที่หยากเยื่อทับถมอยู่จึงได้ถือเอาโดยสำคัญว่าเป็นผ้าบังสุกุล และเมื่อเห็นว่าผ้ามีจำนวนมากพอทำจีวรได้แล้วก็เดินทางกลับพระเวฬุวันมหาวิหาร บอกให้เพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายทราบว่า ท่านจะทำจีวรขอให้พระสงฆ์มาร่วมกันช่วยจัดทำ เมื่อพระสงฆ์สาวกได้ทราบว่า พระอนุรุทธเถระทำจีวรต่างก็มาพร้อมกัน ตลอดพระมหาสาวก เช่น พระมหากัสสปะพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะและพระอานนท์ ผู้ชำนาญในการกะตัดจีวรเป็นพิเศษ ก็ได้มาร่วมประชุมทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระอย่างน่าสรรเสริญ ต่างรับแบ่งงานออกทำกันตามความสามารถทุกองค์ แม้พระพุทธองค์ก็ทรงพระเมตตาเสด็จมาประทับเป็นประธาน ทั้งรับธุระสนเข็มให้ พระที่ช่วยเย็บผ้ารูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระบรมศาสดาก็ทรงสนเข็มประทาน เป็นที่เบิกบานใจแก่มวลพระสงฆ์ที่เข้ามาร่วมทำจีวรร่วมกันทั้งสิ้น อนึ่ง ในการเลี้ยงดูพระสาวกที่มาร่วมทำจีวรครั้งนี้นั้นนอกจากพระโมคคัลลานเถระในฐานะเป็นพระผู้ใหญ่ควบคุมกิจการทั่วไปที่จะพึงสอดส่องดูแล ให้ความสะดวกแก่พระสาวกทั้งหลายแล้ว ยังมีนางชาลินีเทพธิดาเจ้าของผ้าบังสุกุลก็ได้ติดตามพระอนุรุทธเถระมาถึงวิหาร ครั้นเห็นพระสงฆ์สาวกเป็นอันมาก มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข เสด็จมาประทับเป็นประทานในการทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระ ก็มีความยินดีมากจึงได้จำแลงกายเป็นอุบาสิกาเข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้านว่า เวลานี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกได้ประกอบพิธีทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระ ควรที่เราทั้งหลายจะจัดข้าวยาคู และของควรเคี้ยวควรฉันไปถวายพระสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อเราทั้งหลายจะพึงเป็นผู้มีส่วนบุญในการนี้ด้วย ต่อมาไม่นานผู้มีใจบุญใจกุศลก็ได้นำเอาอาหารอันประณีตมาถวายพระสงฆ์สาวก อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเป็นอันมาก ตามคำชักชวนของนางชาลินีเทพธิดา พระสงฆ์สาวกทั้งหลายต่างก็มีความสะดวกสบายด้วยอาหารทั่วถึงกันในวันนั้นเองผ้าจีวรอันประณีตมีค่ามากเกิดแต่ฝีมือของพระสงฆ์สาวกพร้อมกัน กะ ตัด เย็บ และย้อมด้วยน้ำฝาด ซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาประทับเป็นประธานรับเป็นพนักงานสนเข็มให้ ก็สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี ตกเป็นสมบัติอันมีค่าของพระอนุรุทธเถระเจ้าสมประสงค์ทุกประการ พระพุทธจริยาตอนทรงมีพระเมตตากรุณา ทรงสนเข็มให้เหล่าสาวกเย็บจีวรของพระอนุรุทธเถระนั้นเอง เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “ปางสนเข็ม” ขึ้น |