ประวัติ
พระธรรมวิสุทธาจารย์ (เหล่ว สุมโน ป.ธ.๕)
ภูมิหลัง
พระธรรมวิสุทธาจารย์ มีนามเดิมว่า เหล่ว อุ่นทจันที
เกิดเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๒ ที่บ้านแดงใหญ่ ตำบลแดงใหญ่
(เดิมตำบลบ้านทุ่ม) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ท่านเกิดในตระกูลชาวนา บิดาชื่อนายจันที
อุ่นจันที มารดาชื่อนางเสาร์ อุ่นจันที มีพี่น้องร่วมตระกูล ๕ คน คือ นายเป้ย
อุ่นจันที นางแหล่ อุ่นจันที นางลา อุ่นจันทีและหลวงปู่ หลวงปู่ท่านเล่าสู่ฟังว่า
"พ่อได้ตายจากตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเยาว์วัย
ด้วยโรคอหิวาต์ระบาด ข้าพเจ้าอายุ ๔-๕ ปี จำไม่ได้แน่ มารดาเลี้ยงมาตลอด
พี่น้องร่วมท้องเลี้ยงดูกันมาด้วยความรักใคร่ใยดี พวกข้าพเจ้าทุกคนมีนิสัยอ่อนโยนเป็นคนว่าง่าย
ไม่ค่อยเอาเปรียบใคร ทุกคนทำตัวเป็นคนแพ้เสมอ ซึ่งเกี่ยวเหตุผลกับคนอื่นที่เป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้าน
ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกับใคร เพื่อนบ้านผู้ใหญ่เมตตาปรานีเสมอ พากันเจริญมาจนมีครอบครัวทุกคน
นอกจากข้าพเจ้าเท่านั้น"
จากทุ่งนาสู่ผ้ากาสาวพัสตร์
เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ณ พัทธสีมาวัดท่าบึง บ้านเป็ด ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระครูเลิง
ชุติมนฺโต (เจ้าคณะหมวดหรือตำบล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุบิน วชิรธมฺโม
วัดท่าบึง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูโพธิ์ ชุติมนฺโต วัดสามัคคี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว เป็นพระนวกะ ไม่มีครูอาจารย์ ท่านจึงท่องจำปาติโมกข์แบบต่อปากต่อคำ
ต่อมาท่านได้เดินทางไปมูลกัจจายน์ ที่อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการเดินเท้ารอนแรมไปตามหมู่บ้าน
กาลต่อมาได้กลับมาบ้านเกิดเข้าศึกษานักธรรมชั้นตรีและนักธรรมชั้นโท ที่วัดบ้านศรีดอนกลาง
บ้านป่าชาติ ท่านเป็นโรครอดสีดวงจมูก จำเป็นต้องเดินทางลงไปกรุงเทพเพื่อรักษาตัวเอง
เมื่อเดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ปี พ.ศ.๒๔๗๗ จึงเดินทางลงไปกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟ มีพระอาจารย์เหรียญ
คนบ้านหนองหลุบมารับไปพำนักที่วัดเทพธิดาราม ต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดบางไส้ไก่
ฝั่งธนบุรี แต่ไปเรียนแปลธรรมบทที่วัดอนงคาราม จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ ท่านจึงสอบได้เปรียญธรรม
๕ ประโยค ได้เป็น "พระมหา" สมดั่งใจปรารถนา และในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ท่านก็สอบได้เปรียญธรรม
๔ ประโยค และในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ท่านสอบได้ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม ๓
ประโยค และเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๑๓ ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดมหาธาตุ
ฝั่งกรุงเทพมหานคร

จากเมืองกรุงมุ่งสู่ขอนแก่น
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ คณะสงฆ์นำโดยเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น
ได้ลงไปประชุมพระภิกษุสามเณรชาวขอนแก่น ที่วัดประยูรวงศาวาส เพื่อกลับบ้านเกิดไปตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรม
ที่ประชุมตกลงให้พระมหาพราม จิตฺตเสโน ป.ธ.๖ วัดมหาธาตุ กับพระมหาเหล่ว สุมโน
ป.ธ.๕ เข้าประจำที่วัดธาตุเมืองเก่า กับพระมหาคูณ ป.ธ.๖ เข้าประจำที่วัดศรีนวล
เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมในนามสำนักเรียนประจำจังหวัดขอนแก่น
เมื่อเดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ ปีพ.ศ.๒๔๘๖ พระมหาเหล่ว สุมโน กับพระมหาพราม จิตฺตเสโน
ได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม โดยใช้ศาลา กุฎิที่ว่าง และใต้ร่มไม้ เป็นห้องเรียน
พระมหาพราม สอนธรรมบท มีนักเรียน จำนวน ๖ รูป ส่วนพระมหาเหล่ว สอนบาลีไวยากรณ์
มีนักเรียน จำนวน ๑๐ กว่ารูป เช้าสอนนักธรรม ตอนบ่ายสอนบาลี โดยสอนตั้งแต่เช้าถึงเย็น
แถมต้องทำวัตรทุกเ้ช้า-เย็นอีกด้วย ต่อมาได้ตั้งชื่อสำนักเรียนว่า โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา
ภายใต้บารมีธรรมของ พระครูวิเวกธรรมประสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดธาตุ และเจ้าคณะอำเภอเมืองขอนแก่น
ผู้เป็นแรงหนุนสำคัญในการสร้างสำนักเรียน ส่วนแรงอุปถัมภ์สนับสนุนและให้กำลังใจอยู่ส่วนภายใน
คือ พ่อโบ- แม่พิน ตราชู คหบดีผู้มีใจโอบอ้อมอารีและมีศรัทธาแรงกล้า ในสมุดบันทึก
หลวงปู่เหล่ว เขียนถึงพ่อโบ- แม่พิน ตราชู ไว้ว่า
"นอกจากบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของข้าพเจ้าแล้ว
คุณโยมโบ- คุณแม่พิน ตราชู เป็นผู้เลี้ยงดูข้าพเจ้า ๓ อย่าง คือ
๑. เลี้ยงดูด้วยให้ข้าวปลาอาหาร
๒. เลี้ยงดูการงานให้ข้าพเจ้าทำ
๓. เลี้ยงดูในยามข้าพเจ้าทุกข์ ให้ข้าพเจ้าพ้นอันตราย"
ชีวิตหลวงปู่กับสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นพระครูสัญญาบัติชั้นเอก ที่ พระครูธรรมสารสุมณฑ์
พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระพุทธิสารมุนี
พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารเวที
พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิมลโมลี
พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวิสุทธาจารย์

จากวิเวกธรรมฯ สู่มหาจุฬาฯ (จากวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยาสู่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
พ.ศ. ๒๕๒๘ คณะครูอาจารย์โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา
สำนักเรียนวัดธาตุ
ได้ปรึกษาหารือกัน เพื่อหาแนวทางยกระดับการศึกษาของพระภิกษุสามเณรให้สูงขึ้น
ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการจัดตั้งวิทยาเขตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นที่วัดธาตุ
เจ้าสำนักเรียนวัดธาตุจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดำเนินการขอจัดตั้งวิทยาเขต
ความย่อว่า
คำสั่งเจ้าสำนักเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา
ที่ ๑/๑๕๒๘
เรื่อง แต่งตั้งกรรมการดำเนินงานขอจัดตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
คณะกรรมการอำนวยการและที่ปรึกษา
๑. พระราชสารเวที เจ้าสำนักเรียน ประธานกรรมการ
๒. พระมุนีสารประสาธาน์ รองเจ้าสำนักเรียน-ครูใหญ่ กรรมการ
๓. พระมหาทองสา วรลาโภ ป.ธ.๘ กรรมการ
คณะกรรมการดำเนินงาน
๑. พระครูอรรถสารเมธี ผู้ช่วยเจ้าสำนักเรียน ประธานกรรมการ
๒. พระมหาปาว เตชธมฺโม ผู้ช่วยครูใหญ่ กรรมการ
๓. พระมหาวีระ กิตฺติวณฺโณ ครูสอน กรรมการ
๔. พระมหาโสวิทย์ โกวิโท กรรมการ
๕. พระมหาจำเริญ ปสุโต กรรมการ
๖. พระมหาธีรพงษ์ อิงฺคาโภ กรรมการ
๗. พระมหาอาณัติ กลฺยาณเมธี กรรมการ/เลขานุการ
๘. นายบุญจันทร์ กิ่งพุ่ม ศิษย์เก่า กรรมการ/ผู้ช่วยเลขานุการ
สั่ง ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
(ลงชื่อ) พระราชสารเวที
(พระราชสารเวที)
เจ้าสำนักเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา
เมื่อ พระราชสารเวที เจ้าอาวาสวัดธาตุและเจ้าสำนักเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา
ได้มีคำสั่งแต่งกรรมการดำเนินงานแล้ว กรรมการจึงได้ประชุมครั้งแรกตามบันทึกข้อความที่
จล. ๖๓/๒๕๒๘ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๒๘ ประชุมในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๘ เวลา
๑๘.๐๐ น. แรม ๘ ค่ำ เรื่อง ขอนัดประชุมเจ้าสำนักเรียน-รองเจ้าสำนักเรียน-คณะครู-อาจารย์โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา
มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๘ รูป/คน ต่อจากนั้นเจ้าสำนักเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา
ได้ออกหนังสือที่ จล. ๖๙/๒๕๒๘ ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๒๘ เรื่องขอเปิดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ในเดือนต่อมาเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ออกหนังสือที่ ๖๓๙/๒๕๒๘
ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๒๘ เรื่อง นัดประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาการขอเปิดวิทยาเขตขอนแก่น
ในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๒๘ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ สำนักธรรมวิจัย วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร
จากนั้นกรรมการได้ประชุมและดำเนินงานไปตามลำดับ
จนถึงเวลาอันสมควรมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้ออกหนังสือที่ ๗๑๔/๒๕๒๘
ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๘ เรื่อง แจ้งมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเรื่องอนุมัติให้เปิดดำเนินการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ซึ่งลงนามโดย พระมหานคร เขมปาลี เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และในขั้นสุดท้ายมหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัย
ความว่า
คำสั่งมหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่ ๘/๒๕๒๙
เรื่อง แต่งตั้งเจ้าหน้าที่บริหารมหาวิทยาลัย
------------
อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ในพระราชูปถัมภ์ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๙ แห่งคำสั่ง มหาเถรสมาคม เรื่อง
การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ พ.ศ.๒๕๑๒ แต่งตั้งให้
๑. พระราชสารเวที (เหล่ว สุมโน) ป.ธ.๕, น.ธ.เอก, อายุ ๗๗ พรรษา ๕๖ รองเจ้าคณะภาค
๙ วัดธาตุ จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งรองอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
หัวหน้าวิทยาเขตขอนแก่น
๒. พระมหาโสวิทย์ โกวิโท ป.ธ.๗, พธ.บ. อายุ ๒๗ พรรษา ๖ วัดธาตุ จังหวัดขอนแก่น
เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๙ เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๙
พระธรรมวรนายก
(พระธรรมวรนายก)
อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

คติธรรมหลวงปู่
"เฮ็ดดีไว้ ไผบ่เห็น กะตามซ่าง
เฮ็ดซั่วไว้ ไผสิย่อง กะซ่างตาม ฯ"
ผู้รวบรวมข้อมูล : ผศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
|