ประวัติเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนี
อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีนวล เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น
********************

พระราชสารธรรมมุนี นามเดิม
กัณหา นามสกุล โคตรนารา นามฉายา ปภสฺสโร เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.
๒๔๓๖ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ณ บ้านข่อย ตำบลหนองผือ
อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อ นายวิเศษ มารดา ชื่อ นางฟอง มีพี่น้อง
ร่วมมารดาบิดา ๖ คน คือ
๑. นางเคน (ถึงแก่กรรม)
๒. นายสีดา (ถึงแก่กรรม)
๓. นายพรหมมา (ถึงแก่กรรม) ๔.
พระราชสารธรรมมุนี
๕. นายสุดชา (ถึงแก่กรรม) ๖.
นางทุมมา (ถึงแก่กรรม)
บรรพชา
บรรพชาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ อายุ ๑๕ ปี ณ วัดบ้านตากแดด
ตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระอาจารย์นวล เป็นพระอุปัชฌาย์
อยู่ได้ ๒ พรรษา ก็ลาสึกขาบท
อุปสมบท
อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ อายุ ๒๑ ปี ในงานผูกพัธสีมาวัดบ้านแคน
ตำบลอาจสามารถ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
โดยมี พระอาจารย์พูน เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์หงส์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์บัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การศึกษาเบื้องต้น
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้เข้าเป็นลูกศิษย์วัดบ้านตากแดด
ตำบลน้ำคำ ได้เรียนหนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้ โดยมีพระอาจารย์นวล ชาพร
และพระอาจารย์สีดา เป็นครูสอน ต่อมาก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรบวชอยู่ ๒ ปี ก็ลาสิกขา
การศึกษาปริยัติธรรม
ในระหว่างที่เป็นสามเณรอยู่นั้น ได้เรียนสวดมนต์น้อย
มนต์กลาง สัททาสังคหะ ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระ ก็ไปเรียนหนังสือต่อจากที่เคยเรียนมาแล้วจนจบชั้น
ป. ๒ จากคุณครูน้อย และพระอาจารย์ทองแพง ได้ไปเรียนปาติโมกข์และมูลกัจจายน์
จากอาจารย์ดิษฐ์บ้านเก่างิ้ว อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น และได้ไปเรียนบาลีไวยากรณ์
และนักธรรม ณ สำนักเรียนวัดประยูรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐
พ.ศ. ๒๔๖๑ สอบนักธรรมชั้นตรีได้ ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดประยูร-วงศาวาส
พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบนำธรรมชั้นโทได้ ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดประยูร-วงศาวาส ในระยะที่อยู่กรุงเทพฯ
มาอยู่ที่วัดวิเศษประดิษฐ์ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ได้ทำหน้าที่สอนนักธรรม
และฝึกวิธีแสดงธรรมให้แก่พระภิกษุสามเณร และได้สอนหนังสือไทยให้แก่เด็กชาวบ้านด้วย
การจำพรรษา
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ทางคณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร
(อุ่น ป.ธ. ๖) วัดศรีจันทร์ เป็นเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ได้มีบัญชาให้มาอยู่ในจังหวัดได้พักอยู่ที่วัดศรีจันทร์
ชั่วระยะหนึ่งแล้วจึงได้ย้ายมาอยู่ที่วัดศรีนวล โดยการนิมนต์ของท่านข้าหลวง
พระพิศาลสารเกษตร และหลวงราษฎร์ นายอำเภอเมืองขอนแก่น
ตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
- พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดวิเศษประดิษฐ์
อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น
- พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีนวล ขอนแก่น
- พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ
- พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น
- พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น
- พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาจารย์โท ทางเทศนา
รับพระราชทานสมณศักดิ์
- พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูพิเศษสารคุณ"
(ร. ๘)
- พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ "พระสารธรรมมุนี"
(ร. ๙)
- พ.ศ. ๒๕๐๐ เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ "พระราชสารธรรมมุนี"
( ร. ๙)
หน้าที่การปกครอง
ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น
และเจ้าอาวาสวัดศรีนวล ขอนแก่น ด้วยดีตลอดมา ได้บำบัดทุกข์บำรุงสุข และให้ความเป็นธรรมแก่พระสังฆาธิการทุกระดับชั้น
จนเป็นที่เชื่อมั่น และเคารพนับถือ ของพระสังฆาธิการโดยทั่วไป รวมเป็นเวลา
๔๐ ปีเศษ ที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดไม่มีเรื่องมัวหมองและร้ายแรง
ทั้งในส่วนตัวของท่าน และวงการคณะสงฆ์ ท่านได้ปฏิบัติศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและสังคมทั่วไป
จนกระทั่งอายุขัย
หน้าที่การศึกษา
ในวัยหนุ่ม ท่านได้ทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมด้วยตนเอง
เมื่อวัยชรา ท่านได้มอบหมายให้คณะครูอาจารย์ทำหน้าที่แทน ส่วนในต่างสำนัก
ต่างอำเภอท่านได้ส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาโดยวิธีแต่งตั้งครูสอนพระปริยัติธรรมให้รางวัล
และอื่นๆ จนการศึกษาประเภทนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
มีนักศึกษาสอบได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร นอกจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว
ท่านยังส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางคดีโลกด้วย โดย
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้ขอเปิดโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ ระดับที่ ๓-๔ ขึ้นที่วัดศรีนวล
ขอนแก่นได้แต่งตั้งให้นายบุญนาค ศรีเมืองบุญ น.บ. เป็นครูใหญ่ พระมหาบัวผัน
ปคุณธมฺโม ป.ธ. ๘ เป็นผู้อำนวยการ
พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้จัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ขึ้น ที่วัดศรีนวลขอนแก่น
และแต่งตั้งให้พระมหาบัวผัน ปคุณธมฺโม เป็นผู้อำนวยการ โดยมีพระภิกษุสามเณรภายในวัดศรีนวล
เป็นพระอาจารย์สอน และให้การอบรม เพื่อฝึกอบรมเด็กและเยาวชนของชาติให้มีคุณธรรมประจำใจตั้งแต่ยังเยาว์วัย
หน้าที่การเผยแผ่
ท่านมีนิสัยรักในการเผยแผ่มากเป็นพระธรรมกถึกที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคอีสานและภาคกลางหลายจังหวัด
จนได้รับแต่งตั้งเป็นพระอาจารย์โททางศาสนา เมื่อได้แสดงธรรมด้วปฏิภาณ โวหารของตนเอง
ดูเหมือนท่านมีความพอใจและสุขใจมาก แม้จะมีภูมิปริยัติต่ำแค่ นักธรรมชั้นโท
แต่มีความทรงจำแตกฉาน และเชี่ยวชาญมากในภูมิธรรม จะเห็นได้ท่านได้นิพนธ์หนังสือเทศน์ไว้หลายเรื่องด้วยกัน
เท่าที่ค้นหาหลักฐานได้ และได้พิมพ์ออกจำหน่ายมานานแล้ว พอแยกออกเป็นประเภทได้
ดังนี้
๑. ประเภทอานิสงส์
๑.๑ ไตรมาสเทศนา เล่ม ๑,๒,๓ สำหรับเทศน์ภายในพรรษา
๙๐ วันเล่มละ ๓๐ กัณฑ์
๑.๒ อานิสงส์แผนใหม่ เล่ม ๑,๒,๓ เล่มละ ๕๐
กัณฑ์
๑.๓ คิริมานนทสูตรเทศนา
๑.๔ อานิสงส์ถวายทานต่างๆ ๓๐ กัณฑ์
๒. ประเภทเทศน์คู่ (ปุจฉาวิสัชนา)
๒.๑ มาตาปิตุคณเทศนา
๒.๒ กตัญญูกตเวทีเทศนา
๒.๓ บุพการีเทศนา
๒.๔ บุญกิริยาวัตถุเทศนา
๒.๕ ฌาปนกิจเทศนา
๒.๖ อริยทรัพย์ ๗ เทศนา
๒.๗ อริยสัจ ๔ เทศนา
๒.๘ เทโวโรหณสูตรเทศนา
๒.๙ มาลัยสูตรเทศนา
๒.๑๐ ปฐมสังคายนาเทศนา
หน้าที่สาธารณูปการ
ได้ก่อสร้างปรับปรุงและปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดศรีนวล
ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันที่สำคัญ คือ พ.ศ. ๒๕๐๖ สร้างกุฎีคอนกรีตเสริมเหล็ก
๑ หลัง ๗ ห้อง ๒ ชั้น สิ้นทุนทั้งหมด ๓๐๐,๐๐๐. กว่าบาท (สามแสนกว่าบาท) โดยบริจาคทุนส่วนตัว
ร่วม สองแสนบาท
พ.ศ. ๒๕๐๗ วัดศรีนวล ได้รับคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของจังหวัดขอนแก่น
ได้ปรับปรุงบริเวณวัด สร้างถนนเป็นมาตรฐาน
พ.ศ. ๒๕๑๒ สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม (โรงเรียนประภัสสรวิทยา)
๑ หลัง ๑๐ ห้อง ๒ ชั้น ขนาดยาว ๔๖ เมตร กว้าง ๑๔ เมตร นอกจากการก่อสร้างภายในวัดศรีนวลแล้ว
ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดก็ได้เอาใจใส่ ส่งเสริมสนับสนุนการก่อสร้างถาวรวัตถุ
เสนาสนะสงฆ์ ในต่างอำเภอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์พระธาตุขามแก่น อำเภอน้ำพอง
ท่านได้เอาใจใส่เป็นพิเศษ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ โดยได้อำนวยการจัดทำฉัตรเงินต่อยอดเจดีย์
และประกอบพิธีฉลองอย่างสมเกียรติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘
ส่วนในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น นอกจากภายในวัดแล้ว
ท่านยังได้ริเริ่มนำการก่อสร้างหลักเมือง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน
โดยได้นำหลักศิลาจารึก มากจากโบราณสถานในท้องที่อำเภอชุมแพ ประกอบพิธีตามแนวทางพระพุทธศาสนา
ทำเป็นหลักเมือง ขนานนามว่า "ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง" ประดิษฐานอยู่ที่บริเวณติดกับถนนเทพารักษ์
อำเภอเมืองขอนแก่น เป็นที่น่าเคารพ เลื่อมใส ของประชาชนตั้งแต่นั้นมา จนกระทั้งปัจจุบันนี้
ท่านเจ้าคุณปู่ พระราชสารธรรมมุนี เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง
มีพลานามัยสมบูรณ์ มีกำลังใจเข็งแข็ง และกล้าหาญ มีความอดทนเป็นเยี่ยม ไม่เป็นคนขี้โรค
มีอายุยืน มีฟันแข็งแรง และมั่นคง มากตลอดอายุขัย ไม่เคยโยกคลอนไม่เคยบ่นว่าปวดฟัน
จนถึงวันมรณภาพ มีความเป็นอยู่แบบง่ายๆ ไม่ถือยศถือศักดิ์ ระยะปลายของชีวิต
ท่านปฏิบัติอย่างขัดเกลาจริงๆ แม้จะชราภาพมากเฉพาะส่วนตัวของท่านทำวัตรเช้า-เย็น
มิได้ขาดเดินจงกรม ภาวนาคาถาพระพุทธคุณ ๑๐๘ จบ ทุกวันมิได้ขาดลงให้ศีลให้พร
ทุกวันธรรมสวนะ (วันพระ) ไปในกิจนิมนต์ แม้ต่างอำเภอ ทางทุรกันดาร ค้างวันค้างคืนก็ไม่เห็นบ่นว่าเหน็ดเหนื่อย
คนมักจะเรียนถามท่านบ่อยๆ ว่า "หลวงปู่สบายอยู่ไหม" ท่านจะตอบว่า
"สบายดี" พร้อมกับยกแทนทั้งสองขั้นอวดก้ามว่า "ยังแข็งแรง"
เป็นคนมีอารมณ์ขันตลอดอายุขัยการซักถามการพูด การแสดงธรรมในงานต่างๆ ผู้ฟังได้หัวเราะทุกครั้ง
แม้อาพาธหนักนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลท่านถามผู้ที่ไปเยี่ยมว่า "มาอะไร"
ผู้ไปเยี่ยมเรียนว่า "มาเยี่ยมหลวงปู่" ท่านก็พูดตลกๆ ว่า "ในใจว่า"
(หมายความว่า มาเยี่ยมด้วยความเป็นห่วงจริงๆ หรือเป็นเพียงข่มใจว่าเฉยๆ)
ท่านปฏิบัติตนด้วยความขัดเกลาและเสียสละจริงๆ
หลายครั้งที่พระเณรเรียนกับท่านว่า "หลวงปู่ คือได้ห่มผ้าจีวรงามแท้"
ท่านักจะถามว่า "เธอมีไหม" ถ้าตอบว่า "ไม่มี" แม้ท่านจะห่มจีวรนั้นอยู่
ก็เปลื้องออกให้ และหลายครั้ง ท่านไปเทศน์มา ถ้ามีพระเณรเรียนว่า "หลวงปู่มาคือรวยแท้"
ท่านก็เอากัณฑ์เทศน์นั้นทั้งหมดถวายพระเณรรูปนั้นไป ผู้ที่กล้าเรียนกับท่านเล่นๆ
อย่างนั้น ก็เลยกลายเป็นผู้โชคดีไป ท่านไม่ถือ เป็นกันเองกับพระเณรมาตลอด
ท่านให้ด้วยความเมตตาการุณย์จริง ไม่ใช่เพื่อประชดประชันเลย
วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๔ เมื่อเวลา ๐๓. ๔๕ น.
ของวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๔ ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบด้วยโรคชรา ท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นจำนวนมาก
ท่านจากไปแบบพระ แบบปล่อยวางจริงๆ โดยไม่ได้สะสมปัจจัยภายนอกอันเป็นสมบัติส่วนตัวไว้
เหลือไว้แต่คุณงามความดี และสมบัติส่วนกลางของพระศาสนา ซึ่งเป็นผลงานของท่านเป็นอนุสาวรีย์แทนตัวท่านรวมชนมายุได้
๘๘ ปี ๑ เดือน ๒๖ วัน
จากการศึกษาประวัติพระเดชพระคุณพระราชสารธรรมมุนี
อดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เจ้าอาวาสวัดศรีนวลขอนแก่น จะเห็นว่าท่านเป็นพระมหาเถระนักปกครองที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง
(Self Confidence) สร้างความไว้วางใจได้ (Trustworthiness) มีลักษณะเด่น
(Dominance) นั่นก็คือท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ (Faithful) ในขณะเดียวกันท่านเป็นที่มีความเข้าใจอารมณ์และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
(Sensitivity to other and empathy) เป็นผู้ที่มีสภาพการณ์ควบคุมตานเอง (Internal
locus of control) เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ (Courage) นั่นเป็นเพราะว่าท่านเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความน่านับถือ(Respectable)
นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระมหาเถระที่มีอารมณ์มั่นคง นั่นก็เป็นเพราะว่าท่านเป็นพระมหาเถระนักปกครองที่พระผู้ปกครองในยุคปัจจุบันควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์สืบไป
|