พระพุทธรูปไม้

ชอบ ดีสวนโคก

ความนำ

    พระพุทธรูปไม้ เป็นสมบัติของบรรพบุรุษที่ได้จงใจจำหลักแกะเกาตามความสามารถที่มีอยู่ ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าหาที่เปรียบมิได้ต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ และต่อพระสงฆ์สาวกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นเนื้อนาบุญ แรงศรัทธาที่ได้แสดงออกมานั้นได้ถูกทำลายลงทีละน้อยตามกาลเวลา ทั้งด้วยความจงใจของมนุษย์บ้าง ทั้งจากการกระทำของลมฝนดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติบ้าง ความรู้สึกสำนึกในคุณค่าของพวกเราปัจจุบันที่มีต่อรอยแรงศรัทธาของบรรพชนในผลงานชิ้นนี้ได้ลดลงและจะเลือนหายไปในที่สุด สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มองเห็นสภาพปัญหาที่มีอยู่และจะเป็นไปในอนาคตในเรื่องนี้ จึงกำหนดทำโครงการเก็บรวบรวมศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เพื่อทำความเข้าใจแนวทางในการที่จะกระทำการอนุรักษ์ผลงานของบรรพบุรุษไม่ให้ถูกทำลาย เพื่อความภาคภูมิใจของอนุชนสืบไป บทความนี้ต้องการเสนอข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้มุ่งเสนอในฐานะเป็นผลงานด้านประติมากรรม ไม่ได้เสนอในฐานะเป็นผลงานด้านประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

กำเนิดพระพุทธรูป

    พระพุทธรูป ถือเป็นเจดีย์ (สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการเคารพบูชา) ประเภทหนึ่งในจำนวนเจดีย์สี่ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุเทสิกเจดีย์ รูปสลักเกี่ยวกับพระพุทธประวัติก็ดี จัดว่าเป็นอุเทสิกเจดีย์(สมพร อยู่โพธิ์ ๒๕๑๔:๒) พุทธเจติสถานพบสร้างขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ครั้งกษัตริย์วงศ์โมริยะ องค์ที่สามขึ้นครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๒๗๐ - ๓๑๑ ได้ทรงสร้างขึ้นหลายแห่ง ในระยะนี้ไม่นิยมสร้างพระพุทธเจ้าเคารพ ทำแต่รูปอย่างอื่น เป็นเพียงสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ที่สาญจิสถูป (กรมศาสนา ๒๕๒๕ : ๓)
    การสร้างรูปพระพุทธองค์(ที่เป็นรูปมนุษย์) เป็นฝีมือของช่างแคว้นธารราฐ เมื่อราว พ.ศ.๓๗๐ ชาวกรีกหรือโยนก ได้ถือรูปแบบเคารพเดิมที่เป็นเทพเจ้าของตนที่เคยทำมาประดิษฐ์สร้างพระพุทธรูปขึ้นเมื่อพวกเขาหันมานับถือศาสนาพุทธ กับที่เป็นฝีมือช่างเมืองมถุรา ต่อมาก็เป็นช่างเมืองอมราวดีในอินเดียใต้ บางแห่งบอกว่าพระพุทธรูปถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงษ์กุษาณะ ผู้ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๖๖๒ - ๗๖๐ เป็นฝีมือช่างกรีกโรมัน ์(สมพร อยู่โพธิ์ ๒๕๑๔:๒)

  • ในแคว้นคันธาระ พบพระพุทธรูปปางสมาธิมารวิชัย ปฐมเทศนา อุ้มบาตร ประทานอภัย ประทานพร มหาปาฏิหาริย์ ปรินิพพาน ลีลา
  • ในอินเดียพบพระพุทธรูปปางตรัสรู้ เทศนา มหาปาฏิหาริย์ ทรมานพญาวานร ปรินิพพาน ลีลา ทรมานช้างนาฬาคีรี
  • ในศรีลังกาพบพระพุทธรูปปางสมาธิ ปรินิพพาน รำพึง ลีลา ประทานอภัย
  • ในสมัยทวาราวดีพบพระพุทธรูปปางเทศนา สมาธิ มารวิชัย มหาปาฏิหาริย์ ปรินิพพาน บรรทม ลีลา ประทานอภัย ประทานพร โปรดสัตว์
  • ในสมัยศรีวิชัย พบพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมาธิ นาคปรก ปรินิพพาน ประทานอภัย ลีลา
  • ในสมัยลพบุรี พบพระพุทธรูปปางนาคปรก มารวิชัย สมาธิ ปรินิพพาน ลีลา ประทานพร ประทานอภัย
  • ในสมัยเชียงแสน พบพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมาธิ อุ้มบาตร ประดิษฐานรอยพระบาทไสยา นั่งห้อยพระบาท ลีลา เปิดโลก ประทับ

โครงการ KM หอพุทธศิลป์ © สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
๓๐ หมู่ที่ ๑ บ้านโคกสี ถ.ขอนแก่น-น้ำพอง ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.๐๔๓-๒๘๓๕๔๖-๗
เริ่ม ๑ กันยายน ๒๕๕๓ ปรับปรุงล่าสุด ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘, ปรับปรุงโดย นายบูชิตร์ โมฆรัตน์