อุษกูร์ (Ushkur) หรืออูษการ์ (Ushkar) เป็นเมืองหลวงในสมัยพระเจ้าหุวิชกะ (Huvijaka) แห่งราชวงศ์กุษาณะ (Kushana) มีนามว่าหุษกรปุระ (Hushkarpur) ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเชลัม (Jhelum) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสถานีรถไฟเมืองพารามูล่า (Baramula) มา ๓ กิโลเมตร ซึ่งเป็นอำเภอใหญ่ในรัฐชัมมูและกัศมีร์ ห่างจากศรีนคร ๕๕ กิโลเมตร (Srinagar) เมืองหลวงของรัฐในปัจจุบัน พ.ศ.๖๐๐ เศษ พระเจ้าหุวิชกะได้สร้างอารามขนาดใหญ่เป็นอารามหลวง เรียกว่า หุษกรสังฆาราม พระนาคารชุนเคยมาพำนักที่นี่ มาถึงยุคพระเจ้าลลิตาทิตย์ (Lalitaditya) กษัตริย์แห่งกัศมีร์ โปรดให้บูรณะเพิ่มเติมจนใหญ่โต พ.ศ.๑๑๗๓ พระถังซัมจั๋งเดินทางมาจากจีน ได้พำนักที่นี่หลายวันก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองศรีนคร แล้วเดินทางต่อไปยังอินเดียภาคกลาง เรียกว่าชเยนทราวิหาร ตามนามของกษัตริย์ชเยนทราวิหาร พ.ศ.๒๔๑๑ (ค.ศ.๑๘๖๘) นายจอห์น เบิก(John Burke) มาสำรวจได้ถ่ายภาพไว้ พ.ศ.๒๔๑๓ (ค.ศ.๑๘๗๐) เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ผู้อำนวยการกรมโบราณคดีของอินเดียในสมัยนั้น เข้ามาสำรวจระบุว่าเป็นเนินสถูปขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้เวนคืนที่แต่อย่างใด ต่อมาเจ้าของพื้นที่ชาวมุสลิมได้มาขุดเอาเนินโบราณนี้ไปใช้งาน ได้พบของมีค่าเป็นจำนวนมาก เมื่อทางการทราบจึงมาเวนคืนที่ดิน แล้วกันเป็นเขตโบราณสถาน