พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงสังเวชนียสถาน
๔ ตำบลว่าเป็นสถานที่ควรจะดูจะเห็น ควรจะให้เกิดสังเวชสำหรับพุทธบริษัทผู้มีศรัทธา
สถานทั้ง ๔ นั้น คือ
๑. สถานที่ประสูติของพระตถาคต
๒. สถานที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระตถาคต
๓. สถานที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาของพระตถาคต
๔. สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระตถาคต
สถานที่ทั้ง ๔ ตำบลนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงประโยชน์ไว้ว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาพากันมายังสถาน ๔ ตำบลนี้ด้วยความเชื่อ จักเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อทำกาลกิริยาลง ชนเหล่านั้นจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
นอกจากสถานที่
๔ ตำบลดังกล่าวแล้วนี้ว่าเป็นสถานที่พุทธบริษัทจะพึงเห็นจะพึงดูเพื่อให้เกิดบุญกุศล
ยังมีสิ่งที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธบริษัทผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
จะได้ยึดเป็นหลักเพื่อกราบไหว้ และเคารพบูชา อีกอย่างหนึ่ง คือ เจดีย์ที่สร้างขึ้นในพระพุทธศาสนาซึ่งมีผู้จำแนกไว้เป็น
๔ ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุทเทสิกเจดีย์
ธาตุเจดีย์ หมายถึงพระบรมสารีริกธาตุทั้ง
๘ ส่วนที่โทณพราหมณ์ได้แบ่งปันแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานบรรจุไว้ในพระสถูป
เพื่อเป็นที่นมัสการกราบไหว้ ทำสักการบูชา เรียกว่า "ธาตุเจดีย์"
บริโภคเจดีย์ หมายถึง ตุมพสถูป อังคารสถูปและสังเวชนียสถานทั้ง
๔ ตำบลเรียกว่า "บริโภคเจดีย์"
ธรรมเจดีย์ หมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนที่จารึกในใบลาน
ซึ่งเป็นพระพุทธวจนปริยัติธรรมทั้งสิ้น มีปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น แล้วบรรจุเข้าไว้ภายในพระธาตุประดิษฐานเป็นพระสถูปตั้งไว้เป็น
ปูชนียวัตถุเพื่อสักการบูชากราบไหว้ เรียกว่า "ธรรมเจดีย์"
อุทเทสิกเจดีย์ หมายถึง เจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า
ไม่กำหนดว่าจะต้องทำเป็นอย่างไร คือถ้ามิได้เป็นพระธาตุเจดีย์ หรือบริโภคเจดีย์
หรือธรรมเจดีย์แล้วก็เรียก "อุทเทสิกเจดีย์" ทั้งสิ้น ต้นพระศรีมหาโพธิ์
รูปสลักเกี่ยวกับพุทธประวัติ และพุทธรูป ก็นับเป็นอุทเทสิกเจดีย์ด้วย
บรรดาศิลปะโบราณวัตถุสถานเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนานั้น ได้พบหลักฐานว่าเริ่มเกิดมีขึ้นในประเทศอินเดียครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชประมาณ พ.ศ. ๒๗๐-๓๑๑ ซึ่งเป็นรัชกาลที่ ๓ ใน โมริยราชวงศ์ ผู้ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา และได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ถึงกับได้ทรงยกพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นศาสนาสำหรับประเทศ และได้ทรงสร้างพุทธเจดีย์สถานไว้หลายแห่ง แต่ในอินเดียสมัยนั้นยังมีข้อห้ามมิให้ทำรูปคนสำหรับเคารพบูชา คือ ไม่ทำรูปพระพุทธองค์เป็นรูปมนุษย์ จึงทำแต่รูปอื่นเป็นสัญลักษณ์ขึ้นแทนเช่นปางมหาภิเนษกรมณ์ ก็ทำเป็นรูปม้าผูกเครื่องไม่มีคนขี่ ปางประทานปฐมเทศนา ก็ทำเป็นรูปธรรมจักรีรูปกวางหมอบอันหมายความว่า ทรงแสดงธรรมจักรในมฤคทายวัน ปางประสูติก็ทำเป็นพระนางเจ้าศิริมหามายากำลังประทับนั่งหรือยืนอยู่บนดอกบัว มีช้างสองเชือกถือเต้าน้ำ หรือบูรณฆฏะเทลงบนพระเศียรของพระนางผู้กษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ที่พระมหาสถูปสาญจี
รูปพระพุทธองค์ที่ทำเป็นรูปมนุษย์เกิดขึ้นภายหลังพุทธศตวรรษที่ ๖ เล็กน้อย เป็นฝีมือช่างแคว้นคันธารราฐครั้งแรกเมื่อราวพุทธศักราช ๓๗๐ กล่าวคือ เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาเอกของโลก ผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนาได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วต่อมาพวกโยนก(กรีก) ที่นับถือพุทธศาสนาได้เริ่มคิดประดิษฐ์สร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยถือตามแบบรูปที่เคารพที่ตนเคยทำมาแล้ว เพื่อจะให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เคารพบูชากราบไหว้พระพุทธรูปแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบต่อไป ปัจจุบันแคว้นดังกล่าวอยู่ในเขตปากีสถานและอาฟกานิสถาน กับที่เป็นฝีมือช่างเมืองมธุรา หลังจากนั้นเพียงเล็กน้อยก็เกิดสกุลช่างขึ้นสกุลหนึ่ง ณ เมืองอมรวดี ทางภาคใต้ของอินเดีย ปราชญ์บางท่านกล่าวว่าพระพุทธรูปแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งครองราชย์สมบัติระหว่าง พ.ศ. ๖๖๒-๗๐๖ และนับเป็นฝีมือช่างกรีกโรมัน ซึ่งเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลและได้ช่างผู้ประดิษฐ์พระพุทธรูปมาจากทางเอเชียตะวันตก
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า เรื่องที่จะเกิดมีพระพุทธรูปขึ้นนั้น มีในหนังสือเรื่องตำนานพระแก่นจันทร์กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปประทานเทศนาโปรดพระมารดาต้องอยู่ในดาวดึงส์สวรรค์พรรษาหนึ่งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ครองโกศลชนบทมิได้เห็นพระพุทธองค์เป็นเวลาช้านาน ก็มีความรัญจวนคิดถึงพระพุทธองค์ จึงตรัสสั่งให้นายช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยแก่นจันทร์แดง ประดิษฐานไว้เหนืออาสน์ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์สวรรค์มาถึงที่ประทับ ด้วยพระบรมพุทธานุภาพบันดาลให้พระพุทธรูปแก่นจันทร์เลื่อนหลีกไปจากพระพุทธอาสน์ แต่พระตถาคตเจ้าตรัสให้รักษาพระพุทธรูปนั้นไว้เพื่อสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้างพระพุทธรูปเมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว ความที่กล่าวในตำนานนั้นประสงค์จะอ้างว่าพระพุทธรูปแก่นจันทร์องค์นั้นเป็นต้นแบบอย่างของพระพุทธรูป ซึ่งสร้างกันต่อมาในภายหลังหรืออีกนัยหนึ่งก็อ้างว่า พระพุทธรูปมีขึ้นโดยพระบรมพุทธานุญาตและเหมือนพระพุทธองค์ เพราะตัวอย่างสร้างขึ้นแต่ในครั้งพุทธกาล
นักปราชญ์ในชั้นหลังสอบเรื่องพงศาวดารประกอบกับวิจารณ์โบราณวัตถุที่ตรวจพบในอินเดียได้ความว่า พระพุทธรูปเป็นของพวกโยนก (ฝรั่งชาติกรีก) ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เริ่มประดิษฐ์ขึ้นในคันธารราฐเมื่อราว พ.ศ. ๓๗๐ ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ทรงแผ่อาณาเขตลงมาตั้งแต่ยุโรปตลอดมาจนถึงอินโดจีนข้างฝ่ายเหนือ เมื่อพ.ศ. ๒๑๗ นั้นพวกโยนกที่เป็นแม่ทัพนายกองครองบ้านเมืองรักษาพระราชอาณาเขตตลอดมา ครั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ ผู้อื่นไม่สามารถสืบรัชทายาทได้ พระราชอาณาเขตก็กลับแยกกันออกเป็นประเทศต่างๆ ทางฝ่ายเอเชียนี้พวกโยนกที่เป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองต่างก็ตั้งตนขึ้นเป็นอิสระได้หลายอาณาเขตด้วยกัน และชักชวนชาวโยนกพวกของตนให้มาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากิน เป็นมูลเหตุที่จะมีพวกโยนกมาอยู่ในแผ่นดินอินเดียตอนชายแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเรียกกันว่า "อาณาเขตคันธารราฐ" ซึ่งขึ้นอยู่ในประเทศบัคเตรียอันมีแม่ทัพโยนกคนหนึ่งตั้งตัวเป็นเจ้า ครั้นต่อมาเจ้าบัคเตรียแพ้สงคราม ต้องตัดอาณาเขตคันธารราฐออกให้แก่พระเจ้าจันทรคุปต์ ต้นราชวงศ์โมริยะอันเป็นองค์พระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช นับแต่นั้นมาคันธารราฐก็ตกมาเป็นเมืองขึ้นของมคธรัฐ ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าอโศกมมหาราชทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา จึงทรงให้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในคันธารราฐ และพึงสันนิษฐานว่า พวกโยนกที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้นคงเข้ารีตเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาไม่มากก็น้อยแต่เมื่อพ้นสมัยราชวงศ์โมริยะมาถึงสมัยราชวงศ์สุงคะ ซึ่งมีอานุภาพน้อย ไม่สามารถปกครองไปถึงคันธารราฐได้เหมือนกษัตริย์องค์ก่อนๆ พวกโยนกในประเทศบัคเตรียก็ขยายอาณาเขตรุกเข้ามายังแดนอินเดียโดยลำดับ จนได้คันธารราฐและบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำสินธุ อันมีเมืองตักกสิลาเป็นต้นไว้ในอาณาเขตปกครองของตน โดยมีพระเจ้าแผ่นดินโยนกปกครองสืบมาราว พ.ศ. ๓๔๓
ประเทศคันธารราฐนั้น ชาวเมืองโดยมากนับถือพระพุทธศาสนาสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช พวกโยนกตามมาชั้นหลัง เมื่อได้สมาคมสมพงศ์กับพวกชาวเมืองก็มักเข้ารีตและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นยังคงนับถือศาสนาเดินของพวกโยนก ลุมาจนถึงราว พ.ศ. ๓๖๓ พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งพระนามว่า มิลินท์ (เรียกภาษากรีกว่า เมนันเดอร์ (MENANDER) มีอานุภาพมากทำสงครามแผ่อาณาเขตเข้าไปในมัชฌิมประเทศจนถึงมคธรัฐและคงจะได้รับทราบวิธีการปกครองบ้านเมืองของพระเจ้าอโศกมหาราชและได้สมาคมคุ้นเคยกับผู้รอบรู้พระพุทธศาสนา คือ พระนาคเสนเป็นต้น จึงทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาประกาศแสดงพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งในประเทศคันธารราฐ
พุทธเจดีย์ที่สร้างขึ้นในคันธารราฐครั้งพระเจ้ามิลินท์นั้นก็เอาแบบอย่างไปจากมัชฌิมประเทศ แต่ พวกโยนกนั้นเป็นชาวต่างประเทศไม่เคยถือห้ามทำรูปเคารพ แม้คติศาสนาเดิมของพวกโยนกก็เลื่อมใสใน การสร้างเทวรูปสำหรับสักการบูชาด้วยเพราะเหตุนี้ พวกโยนกไม่ชอบแบบชาวอินเดียที่ทำรูปอย่างอื่นสมมติแทนพระพุทธรูป จึงคิดทำพระพุทธรูปขึ้นในเรื่องประเภทเจดียสถาน พระพุทธรูปจึงได้มีขึ้นในคันธารราฐเป็นครั้งแรก ระหว่าง พ.ศ. ๓๖๕ จนถึง พ.ศ.๓๘๓
ตามที่กล่าวมานั้นมีหลักฐานปรากฏอยู่ คือพระพุทธรูปที่เก่าที่สุดซึ่งตรวจพบในอินเดีย ในคันธารราฐอันเป็นแบบอย่างช่างโยนกทำทั้งนั้น แต่เมื่อมาพิจารณาดูลักษณะพระพุทธรูปคันธารราฐที่พวกโยนกทำขึ้น ก็จะเห็นว่าหาใช่เป็นพระพุทธรูปแบบโยนกเท่านั้นไม่ แต่ทำขึ้นด้วยความคิดหรือทำตามอำเภอใจของพวกโยนกก็หาไม่ การที่จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นทีแรกนั้นน่าจะเป็นพระราชดำริของพระมหากษัตริย์แล้ว ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิต กับพวกนายช่างประชุมปรึกษาหารือกันว่าควรจะทำอย่างไร และพวกที่ปรึกษากันนั้นก็เคยมีความรู้สึกว่าเป็นการยากมิใช่น้อย เพราะการทำพระพุทธรูปนั้นมีข้อสำคัญบังคับอยู่ ๒ ประการ คือ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้นจะต้องคิดให้แปลกกับรูปภาพคนอื่นๆ โดยให้รู้ทันทีว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้า และพระพุทธรูปจะต้องให้มีลักษณะงดงาม เป็นที่ชอบใจของคนทั้งหลายที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในขณะพวกช่างคิดแบบพระพุทธรูปนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วหลายร้อยปี รูปพรรณสัณฐานของพระพุทธองค์จะเป็นอย่างไรก็ไม่มีผู้เคยเห็น มีแต่คำบอกเล่ากล่าวสืบกันมา ยิ่งกว่านั้น ยังมีตำนานกล่าวถึงพุทธลักษณะไว้ในคัมภีร์มหาปุริสลักษณะของพราหมณ์ ซึ่งแต่งไว้ก่อนพุทธกาลเป็นต้นช่างผู้คิดทำพระพุทธรูปก็ได้อาศัยคำบอกเล่าบ้าง อาศัยความรู้ทางพุทธประวัติบ้าง เช่น พระพุทธองค์เป็นกษัตริย์ชาวมัชฌิมประเทศ เสด็จออกทรงผนวชเป็นสมณศากยบุตรเป็นต้น กับได้อาศัยแบบอย่างอันปรากฏอยู่ในจารีตประเพณีของชาวมัชฌิมประเทศ ดังเช่น กิริยาที่นั่งขัดสมาธิและการครองผ้าสากาสาวพัสตร์เหมือนพระภิกษุซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้น นอกจากนั้นพวกช่างยังได้อาศัยตามคตินิยมว่าดีงามในกระบวนการช่างของโยนกเป็นหลักความคิดในการสร้างพระพุทธรูปขึ้น ทั้งๆที่โดยทั่วไปก็รู้อยู่ว่าไม่เหมือนองค์พระพุทธเจ้า แต่ก็สามารถให้คนทั้งหลายนิยมนับถือว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้าได้ จึงนับได้ว่าช่างผู้คิดสร้างพระพุทธรูปนั้นเป็นผู้มีความฉลาดมากทีเดียว
ลักษณะพระพุทธรูปโบราณที่ช่างโยนกคิดสร้างขึ้นในคันธารราฐ จะสังเกตได้ว่าได้ทำพระอุณาโลมไว้ที่ระหว่างพระโขนง ทำให้พระเศียรพระพุทธรูปมีเกตุมาลายาวอย่างพระเกศาของกษัตริย์ แต่ไม่มีเครื่องอิสริยาภรณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้คนดูรู้จักพระพุทธรูปได้โดยง่าย คือทำพระพุทธรูปให้ส่วนพระองค์ทรงครองผ้าอย่างสมณะ แต่ส่วนพระเศียรทำให้เหมือนอย่างพระเศียรกษัตริย์แต่ลดเครื่องอิสริยาภรณ์ออกเสีย พระพุทธรูปจึงแปลกกับรูปภาพอื่นๆ ถึงจะอยู่ปะปนกันกับรูปใครๆก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้า ความคิดเช่นนี้ช่างชั้นหลังๆต่อมาไม่สามารถจะคิดแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้ ก็ต้องเอาแบบอย่างของชาวโยนกสร้างพระพุทธรูปสืบมาจนปัจจุบัน
ลักษณะที่ทำตามจารีตประเพณีในมัชฌิมประเทศนั้น เช่น อาการนั่งขัดสมาธิ (ช่างโยนกทำนั่งขัดสมาธิเพชรอย่างเดียว) และอาการที่ทรงครองผ้า ทำทั้งอย่างห่มดองและห่มคลุม และมักทำห่มคลุมจำหลักกลีบผ้า ให้เหมือนจริงตามกระบวนการช่างโยนก นอกจากนั้น พวกช่างโยนกก็ทำตามคติของชาวโยนกเป็นต้นว่า ดวงพระพักตร์ของพระพุทธรูปก็ทำอย่างเทวรูปที่งามของชาวโยนก พระรัศมีก็ทำอย่างประภามณฑลเป็นวงกลมอยู่ข้างหลังพระพุทธรูปตามแบบรัศมีของภาพโยนก ส่วนกิริยาท่าทางของพระพุทธรูปนั้น เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปตามเรื่องพระพุทธประวัติ ซึ่งตรงตอนไหน ช่างก็คิดทำกิริยาท่าทางพระพุทธรูปให้เข้ากับเรื่องตอนนั้น เช่น ตอนก่อนตรัสรู้ก็ทำนั่งซ้อนพระหัตถ์เป็นกิริยาสมาธิ ตอนเรื่องชนะมาร ก็ทำพระหัตถ์ขวามาห้อยที่พระเพลา แสดงว่าทรงชี้อ้างพระธรณีเป็นพยาน ตอนปฐมเทศนา ก็ทำจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นรูปวงกลมอันหมายความว่า "พระธรรมจักร" ตอนแสดงปาฏิหาริย์ ก็ทำเป็นพระพุทธรูปมีดอกบัวรอง พวกช่างคิดทำตามอิริยาบถตามเรื่องพุทธประวัติเรื่อยไปจนถึงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ก็ทำเป็นรูปพระพุทธไสยา เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดของตอนนั้นๆจะกล่าวโดยพิสดารในแต่ละปางข้างหน้า
พระพุทธรูปต่างๆตามตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆนั้นความจริงก็คือพระพุทธรูปที่คิดสร้างขึ้นตามประวัติของพระพุทธจริยาตอนหนึ่ง ๆ ที่พระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงให้ปรากฏในสมัยหนึ่งๆ ซึ่งพอจะประมวลกันเข้าในพุทธจริยา ๓ ประการ คือ:-
๑.พระพุทธจริยาในเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพียร เพื่อความตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ นับตั้งแต่แรกสเด็จออกมหาภิเนษกรณ์ จนถึงเวลาตรัสรู้และเวลาเสวยวิมุตติสุข อันเป็นเวลานานถึง ๖ ปี ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์โดยเฉพาะ เรียกว่า "อัตตัตถจริยา"
๒.พระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระประยูรญาติโดยเฉพาะเรียกว่า "ญาตัตถจริยา"
๓.พระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั่วไป ไม่จำกัดชาติชั้น วรรณะ ตลอดเทพดา กษัตริย์ ยักษ์ ตลอดจนสัตว์ดิรัจฉาน ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก รวมทั้งการแสดงธรรม การบัญญัติพระวินัยแก่พระสงฆ์สาวก เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนา ในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของก่อตั้งพระพุทธศาสนาประกาศพระธรรมคำสั่งสอนให้มั่นคงสืบไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ประชากรทั่วไป เรียกว่า "โลกัตถจริยา"
พระพุทธรูปปางต่างๆที่สร้างกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลเท่าที่ค้นพบนั้นคือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงพระดำริและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูป โดยพระราชนิยมขึ้นอีก
๒ ปางคือ
๑.พระพุทธรูปประทับนั่งปางประทานพร
มีพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ประดับเหนือผ้าทิพย์ เพื่อให้ประชาชนสร้างไว้เป็นที่สักการบูชาทั่วราชอาณาจักร
๒.พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง
๒๓ ซ.ม สูง ๔๐ ซ.ม ด้วยทรงพระราชประสงค์จะพระราชทานเป็นพระประจำจังหวัดต่างๆ
ทั่วราชอาณาจักร
จำเดิมแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ในวันเพ็ญเดือน ๖ ครั้นแล้วก็ได้เสด็จไปแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดปัญจวัคคีย์
ณ ป่าอิสิปตนมฤตทายวัน และทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ภิกษุอันเป็นพรรษาแรก
ซึ่งจัดตามลำดับดังนี้:-
พรรษาที่ ๑ ปีระกา เสด็จจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันโปรดพระปัญจวัคคีย์และพระยสะกับมิตรสหาย
พรรษาที่ ๒ ปีจอ
พรรษาที่ ๓ ปีกุน และ
พรรษาที่ ๔ ปีชวด ทรงจำพรรษาที่วัดเวฬุวัน พระนครราชคฤหห์ โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
และเสวกามาตย์ ราชบริพาร กับทั้งพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะตลอดทั้งบริวาร
พรรษาที่ ๕ ปีฉลู ทรงจำพรรษาที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันพระนครไพสาลี
พรรษาที่ ๖ ปีขาล ทรงจำพรรษาที่กูฏบรรพต
พรรษาที่ ๗ ปีเถาะ ทรงจำพรรษาที่ปัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ใต้ร่มไม้ปาริกชาติ
ในดาวดึงส์สวรรค์ แสดงพระอภิธรรม โปรดพระพุทธมารดา
พรรษาที่ ๘ ปีมะโรง ทรงจำพรรษาที่เภสกลาวัน (ป่าไม้สีเสียด)
ใกล้เมืองสุงสุมารคีรีในภัคคชนบท
พรรษาที่ ๙ ปีมะเส็ง ทรงจำพรรษาที่โฆสิตาราม ในเมืองโกสัมพี
พรรษาที่ ๑๐ ปีมะเมีย ทรงจำพรรษาที่ภัททสาลมูล ในป่าปาลิไลยวันทรงอาศัยช้างปาลิไลยกะปฏิบัติบำรุง
พรรษาที่ ๑๑ ปีมะแม ทรงจำพรรษาที่บ้านนารายพราหมณ์
พรรษาที่ ๑๒ ปีวอก ทรงจำพรรษาที่ปจิมัณฑมูล ร่มไม้สะเดาที่วเรฬุยักษ์สิงอยู่
ใกล้เมืองเนรัญชา พรรษานี้ทรงบัญญัติพระวินัย ตั้งสิกขาบทไว้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุเป็นปฐม
พรรษาที่ ๑๓ ปีระกา ทรงจำพรรษาที่ปาลิยบรรพต
พรรษาที่ ๑๔ ปีจอ ทรงจำพรรษาที่พระเชตวนาราม พระนครสาวัตถี
พรรษาที่ ๑๕ ปีกุล ทรงจำพรรษาที่นิโครธาราม พระนครกบิลพัสดุ์
โปรดพระพุทธบิดาและพระญาติ ตลอดเสด็จห้ามพระญาติวิวาทกันเพราะเหตุแย่งน้ำในมหาสมุทร
พรรษาที่ ๑๖ ปีชวด ทรงจำพรรษาที่อัคคาฬวเจดีย์วิหารเมืองอาฬวี
โปรดอาฬวกยักษ์
พรรษาที่ ๑๗ ปีฉลู
พรรษาที่ ๑๘ ปีขาล และ
พรรษาที่ ๑๙ ปีเถาะ รวม ๓ พรรษานี้ ทรงจำพรรษาที่พระนครราชคฤห์
และเสด็จประทับภูเขาจาลิยะ
พรรษาที่ ๒๐ ปีมะโรง จนถึงพรรษาที่ ๔๔ รวมเป็น ๒๕ พรรษานี้
ทรงจำพรรษาที่พระเชตวนารามและบุพพารามสลับกัน คือ ที่พระเชตวนาราม
๑๙ พรรษาที่บุพพาราม ๖ พรรษา
พรรษาที่ ๔๕ ปีมะเส็ง ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ปีที่เสด็จดับขันธปรินิพพานทรงจำพรรษาที่เวฬุวคาม
ใกล้พระนครไพสาลีครั้นออกพรรษาแล้ว จึงเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ยังนครต่างๆ
จนถึงเมืองกุสินารา ในวันเพ็ญกลางเดือน ๖ วิสาขมาสและเสด็จปรินิพพาน
ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา
ประมวลสถานที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับบำเพ็ญพุทธกิจโปรดเวไนยสัตว์ นับแต่แรก ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตามบาลีอาคตสถานด้วยประการฉะนี้
พระพุทธรูปปางต่างๆท่านโบราณาจารย์ได้เลือกคัดจัดสรรเท่าที่เห็นว่าเหมาะสมแก่เหตุการณ์และชีวิตของตน โดยเขียนเป็นรูปพระลงในแผ่นกระดาษหรือแผ่นผ้าบ้าง แกะด้วยไม้หรือหินบ้าง ปั้นด้วยปูนบ้าง หล่อด้วยโลหะต่างๆบ้าง หล่อด้วยทองคำบ้าง หล่อด้วยเงินบ้าง ไว้เป็นพระประจำชีวิตสำหรับสักการบูชา เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งนิยมสร้างตามกำลังวันทั่วๆไปดังนี้ :-