พระอัญญาโกณฑัญญเถระ พระวัปปเถระ พระภัททิยเถระ พระมหานามะเถระ พระอัสสชิ พระยสเถระ พระวิมลเถระ พระสุพาหุเถระ พระปุณณชิเถระ พระควัมปติเถระ พระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ พระคยากัสสปเถระ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระมหากัสสปเถระ พระอานนทเถระ พระอุบาลีเถระ พระทัพพมัลลบุตรเถระ พระขทิรวนิยเรวตเถระ พระโสณกุฎิกัณณเถระ พระโสณโกฬิวิสเถระ พระราธเถระ พระสุภูติเถระ พระวักกลิเถระ พระกาฬุทายีเถระ พระปิลินทวัจฉเถระ พระมหาโกฏฐิตเถระ พระนันทกเถระ พระนันทเถระ พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ พระโสภิตเถระ พระกุมารกัสสปเถระ พระรัฐบาลเถระ พระวังคีสเถระ พระลกุณฑกภัททิยเถระ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ พระมหาปันถกเถระ พระจูฬปันถกเถระ พระพากุลเถระ พระโกณฑธานเถระ พระพาหิยทารุจีริยะ พระปุณณสุนาปรันตเถระ พระอนุรุทธเถระ พระมหากัปปินเถระ พระกังขาเรวตเถระ พระสีวลีเถระ พระราหุลเถระ พระมหากัจจายนเถระ พระอชิตเถระ พระติสสเมตเตยยเถระ พระปุณณกเถระ พระเมตตคูเถระ พระโธตกเถระ พระอุปสีวเถระ พระนันทเถระ พระเหมกเถระ พระโตเทยยเถระ พระกัปปเถระ พระชตุกัณณีเถระ พระภัทราวุธเถระ พระอุทยเถระ พระโปสาลเถระ พระโมฆราชเถระ พระปิงคิยเถระ พระภคุเถระ พระกิมพิลเถระ พระมหาอุทายีเถระ พระอุปวาณเถระ พระเมฆิยเถระ พระสาคตเถระ พระนาคิตเถระ พระจุนทเถระ พระยโสชเถระ พระเสลเถระ พระสภิยเถระ พระนาลกเถระ พระองคุลีมาลเถระ พระโสปากเถระ พระสันตติมหาอำมาตย์ พระสุภัททเถระ (ปัจฉิมสาวก) พระอุปคุตเถระ

พระอสีติมหาสาวก

พระอสีติมหาสาวก หมายถึง พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป หรือ พระสาวกผู้ยิ่งใหญ่ ๘๐ รูป หรือ พระสาวกสำคัญ ๘๐ รูป ในสมัยพุทธกาล ในการกำหนดพระมหาสาวกให้มีจำนวน ๘๐ รูปน่าจะมีเหตุผลแสดงถึงความยิ่งใหญ่ ความสวยงาม และความสำคัญอันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็นพระพุทธเจ้า คือ
๑. พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา
๒. พระพุทธเจ้าทรงมีพระฉัพพรรณรังษีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายวนเวียนรอบเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ศอก
๓. พระวรกายของพระพุทธเจ้าสง่างาม ด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ

พระอสีติมหาสาวกผู้ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

แม้ว่าพระมหาสาวกจะมีอยู่ถึง ๘๐ รูป ดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็มีเพียง ๔๑ รูปเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะจากพระพุทธเจ้า เพราะตำแหน่งเอตทัคคะคือ ตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้แก่พระสาวกผู้มีความสามารถเป็นเลิศเฉพาะด้านต่างๆ เพื่อเป็นการยกย่อง และพระอสีติมหาสาวก ๔๑ รูปนั้นได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะก็ด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ

  • ๑. ได้รับยกย่องตามเรื่องที่เกิด (อตฺถุปฺปตฺติโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้แสดงความสามารถออก มาให้ปรากฏโดยสอดคล้องกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น
  • ๒. ได้รับยกย่องตามที่สะสมบุญมาแต่อดีต (อาคมนโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้สร้างบุญสะสมมาแต่ อดีตชาติ พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาเพื่อบรรลุตำแหน่งเอตทัคคะนั้นด้วย
  • ๓. ได้รับยกย่องตามความเชี่ยวชาญ (จิณฺณวสิโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เป็นพิเศษ สมตามที่ตั้งจิตปรารถนามา
  • ๔. ได้รับยกย่องตามที่มีความสามารถเหนือผู้อื่น (คุณาติเรกโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความสามารถ ในเรื่องที่ทำให้ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะเหนือกว่าพระสาวกรูปอื่นๆ ที่มีความสามารถอย่างเดียวกัน

คุณลักษณะสำคัญของพระอสีติมหาสาวก

พระอสีติมหาสาวก มีทั้งที่ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะและที่มิได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะซึ่งเป็นไปตามความปรารถนา แต่ถึงอย่างไรพระอสีติมหาสาวก ๒ กลุ่มนี้ก็มีความสำคัญที่ควรกล่าวถึงไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และความสำคัญของพระอสีติมหาสาวกนั้นแยกกล่าวได้เป็น 2 ประการ คือ

๑. คุณลักษณะสำคัญส่วนตน

ได้แก่ คุณลักษณะสำคัญที่เกิดจากความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก การได้บรรลุอภิญญา และความเป็นผู้มีเถรธรรม

ก. ความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก หมายถึง การได้บำเพ็ญบารมีมาเพื่อเป็นพระมหาสาวกไว้หลายต่อหลายชาติ ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “พระสาวกของพระพุทธเจ้าใช่ว่าจะเป็นพระมหาสาวกได้ทุกรูป ท่านที่บำเพ็ญบารมีมาเพื่อการนี้เท่านั้นจึงจะเป็นได้ และต้องบำเพ็ญบารมีสิ้นระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัป”

อนึ่ง นอกจากบำเพ็ญบารมีสิ้นระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัปแล้ว พระอสีติมหาสาวกยังต้องบำเพ็ญ ‘คตปัจจาคตวัตร’ อยู่ตลอดเวลาประกอบอีกด้วย ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “วัตรนี้ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระมหาสาวกต้องบำเพ็ญ มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่สามารถบรรลุถึงความเป็นพระมหาสาวกได้เลย”

ข. การได้บรรลุอภิญญา หมายถึง การได้บรรลุความรู้ชั้นสูง ความรู้ชั้นสูงเรียกว่า อภิญญา มี ๖ คือ

  • (๑) อิทธิวิธี ความรู้ที่ทำให้สามารถแสดงฤทธิ์ได้
  • (๒) ทิพพโสต ความรู้ที่ทำให้เกิดหูทิพย์
  • (๓) เจโตปริยญาณ ความรู้ทำให้รู้ใจผู้อื่นได้
  • (๔) ปุพเพนิวาสานุสติ ความรู้ทำให้ระลึกชาติได้
  • (๕) ทิพพจักขุ ความรู้ทำให้เกิดตาทิพย์
  • (๖) อาสวักขยญาณ ความรู้ทำอาสวะให้สิ้นไป

ค. ความเป็นผู้มีเถรธรรม หมายถึงความเป็นผู้มีธรรมที่ทำให้เป็นผู้มั่นคง ประกอบด้วย

  • ๑. รัตตัญญู เป็นผู้รู้ราตรี หมายถึง บวชมานานและรู้เห็นกิจการทรงจำเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้มาก
  • ๒. สีลวา เป็นผู้มีศีล หมายถึง เคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลายและสำรวมกายวาจาใจ
  • ๓. พหุสสุตะ เป็นพหูสูต หมายถึง ทรงความรู้ไว้มาก
  • ๔. สวาคตปาฏิโมกขะ เป็นผู้ทรงจำปาฏิโมกข์ได้ดี หมายถึง ทรงจำพระวินัยได้คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ สามารถวินิจฉัยได้ดี
  • ๕. อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสละ เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น หมายถึง เมื่อเกิดเรื่องราวไม่สงบขึ้นในสงฆ์ สามารถหาทางระงับปัญหานั้นได้
  • ๖. ธัมมกามะ เป็นผู้ใคร่ในธรรม หมายถึง รักความรู้ รักความจริง ยินดีในการพิจารณาธรรม
  • ๗. สันตุฏฐะ เป็นผู้ยินดีในของที่ตนมี หมายถึง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
  • ๘. ปาสาทิกะ เป็นผู้น่าเลื่อมใส หมายถึง เป็นผู้มีอิริยาบถ รวมทั้งกิริยาอาการเรียบร้อย ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใส
  • ๙. ฌานลาภี เป็นผู้ได้ฌาน หมายถึง เป็นผู้บรรลุฌานและมีความคล่องแคล่วในฌาน ๔ อันเป็นเครื่องทำให้อยู่เป็นสุขในชีวิตประจำวัน
  • ๑๐. อนาสวเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ เป็นผู้บรรลุเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ สิ้นอาสวะ หมายถึง ละราคะและอวิชชาได้จนทำให้กิเลสสิ้นไป

พระอสีติมหาสาวก แม้จะมีเถรธรรมไม่ครบหรือมีแตกต่างกัน แต่ที่ต้องมีเหมือนกันคือ ข้อ ๑๐ ซึ่งก็หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกทุกรูปต้องเป็นพระอรหันต์ แม้ว่าบางรูปขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ก็สำเร็จได้ภายหลังพุทธปรินิพพาน

บรรดาพระอสีติมหาสาวก ล้วนเป็นผู้มีคุณวิเศษเหล่านี้เหมือนกัน คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ พอประมวลสรุปได้ ดังนี้

  • ๑. ได้พบได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
  • ๒. ได้เห็นหรือได้ยินแบบอย่างนั้น จนเกิดความพอใจ แล้วตั้งความปราถนาในอนาคต
  • ๓. บำเพ็ญกุศลกรรมทั้งหลาย มีการให้ทาน เป็นต้น
  • ๔. ได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจักสำเร็จในอนาคตกาล
  • ๕. ได้บำเพ็ญกุศลบารมีทั้งหลายในทุกๆ ภพที่เกิดมาแล้ว
  • ๖. กุศลบารมีทั้งหลายที่สั่งสมมาช้านานแก่กล้า จึงได้เกิดร่วมกับพระพุทธเจ้า
  • ๗. ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก จึงเกิดศรัทธาขอบวชในพระพุทธศาสนา

๒. คุณลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

คุณลักษณะข้อนี้เป็นผลมาจากความสามารถเฉพาะตัวของพระอสีติมหาสาวก และเกิดจากผลงานที่ส่งผลต่อ ความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา

ก. ความสามารถเฉพาะตัว พระอสีติมหาสาวกแต่ละรูปมีความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป จนดูเหมือน ว่าจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในด้านต่างๆ ได้ อาทิ

  • - พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านรัตตัญญู
  • - พระสารีบุตร เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านมีปัญญามาก
  • - พระมหาโมคคัลลานะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านมีฤทธิ์มาก

เพราะเหตุที่มีความสามารถเฉพาะตัวนี้เอง พระอสีติมหาสาวกจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตามเสด็จที่ดีเลิศ ตามปกติพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จไปในที่ใด ย่อมมีพระสาวกแวดล้อมตามเสด็จไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีพระอสีติมหาสาวกรวมอยู่ด้วย ดังปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่า

ข. ผลงาน พระอสีติมหาสาวกได้แสดงผลงานออกมา ด้วยการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายและรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ การช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายนั้น ปรากฏให้เห็นเด่นชัดแต่แรกแล้วนั่นคือ หลังจากได้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนาตามลำพังพระองค์เดียวอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งได้พระสาวก ๖๐ รูป ต่อมาทรงเห็นว่าพระสาวกเหล่านั้นสามารถเป็นกำลังสำคัญ ของพระองค์ได้ จึงทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ วันที่ส่งพระสาวกออกไปประกาศพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพ้นแล้วจากบ่วง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขเกษมแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมวลมนุษย์ ขอเธอทั้งหลายอย่าได้ไปร่วมทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ให้งามในท่ามกลาง และให้งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ให้พรั่งพร้อมด้วยอรรถและพยัญชนะให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรมจักพากันเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ภิกษุทั้งหลายแม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”

ครั้นแล้วพระสาวกเหล่านั้นก็แยกย้าย กันไปประกาศพระพุทธศาสนา และปรากฏว่าในบรรดาพระสาวก ๖๐ รูป มีพระอสีติมหาสาวกรวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง พระอสีติมหาสาวกรูปที่สร้างประวัติศาสตร์สำคัญไว้ในพระพุทธศาสนา คือ พระอัสสชิโดยท่านได้แสดงธรรมโปรดปริพาชกอุปติสสะให้ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วปริพาชกอุปติสสะนั้นเองก็ได้แสดงธรรมที่บรรลุแก่ปริพาชกโกลิตะผู้สหายให้ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน ต่อมาปริพาชกทั้ง ๒ ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็น พระอัครสาวก ปริพาชกอุปติสสะเป็นที่รู้ จักกันในนามว่า ‘พระสารีบุตร’ ส่วนปริพาชกโกลิตะเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘พระมหาโมคคัลลานะ’ ทั้ง ๒ ท่านได้เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา

นอกจากพระอัครสาวกทั้ง ๒ นี้แล้ว พระอสีติมหาสาวกรูปอื่นๆ ก็มีผลงานอยู่ เหมือนกัน พระไตรปิฏกกล่าวถึง พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระมหาโกฏฐิตะ พระมหากัปปินะ พระมหาจุนทะ พระเรวตะ พระอานนท์ และพระมหาสาวกรูปอื่นๆ ว่า แต่ละท่านนั้นมีศิษย์ที่ต้องแนะนำพร่ำสอนท่านละ ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง ๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ขณะจำพรรษาอยู่กับพระพุทธเจ้า ณ วัดบุพพาราม

นอกจากเป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศพระพุทธศาสนาแล้ว พระอสีติมหาสาวกยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ จะเห็นได้ จากคราวหนึ่ง พระสารีบุตรทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคง พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า การบัญญัติสิกขาบทและการแสดงปาฏิโมกข์ ทั้ง ๒ นี้เป็นเหตุให้พรหมจรรย์มั่นคง พระสารีบุตรจึงกราบบังคมทูลให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าทรงรับข้อเสนอของพระสารีบุตรแต่ตรัสชี้แนะว่า
“ตามปกติพระศาสดาจะบัญญัติสิกขาบทและแสดงปาฏิโมกข์แก่สาวก ก็ต่อเมื่อปรากฏว่ามีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะเกิดขึ้นในสงฆ์”